กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยสถิติจดทะเบียนตั้งใหม่ช่วงกลางไตรมาส 2 ประจำเดือนพฤษภาคม 2567 ตั้งใหม่ 7,499 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 14.84% จดทะเบียนเลิก 1,004 ราย น้อยลงจาก ช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ทั้งนี้ ภายหลังจากการสิ้นสุดการรับงบการเงินประจำปี 2566 ของนิติบุคคลกลุ่มที่มีรอบปีบัญชี 31 ธันวาคม 2566 พบส่งงบการเงินตรงเวลาแล้ว 86.6% เหลืออีก 13.4% ที่ยังไม่ได้นำส่งและ มีโทษทางกฎหมาย สำหรับการวิเคราะห์งบการเงินที่ยื่นต่อกรมฯ พบว่า ธุรกิจมีรายได้กว่า 57.86 ล้านล้านบาท และกำไรกว่า 52.82 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น ภาคการผลิต ขายปลีก/ส่ง และบริการ และธุรกิจที่โกยทรัพย์มากที่สุด 10 อันดับ อาทิ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากโรงกลั่นปิโตรเลี่ยม เครื่องประดับ ยานยนต์ ธนาคาร และเชื้อเพลิง ด้านการวิเคราะห์รายธุรกิจพบว่า ธุรกิจของเล่นมีการเติบโตในช่วง 2 ปีหลังอย่างน่าสนใจ สามารถสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มการผลิตและขายสินค้า โดยส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็ก (S) ที่ครองตลาด และยังมีปัจจัยเสริมทางสังคมอย่างเทรนด์การสะสม Art Toy จากผู้ใหญ่ที่มีกำลังซื้อสูงมาช่วยกระตุ้นการเติบโตให้รวดเร็วยิ่งขึ้นด้วย
ด้านการจดทะเบียนเลิกประกอบกิจการ มีจำนวน 1,004 ราย เพิ่มขึ้น 194 ราย คิดเป็น 23.95% เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2567 และลดลง 230 ราย คิดเป็น -18.64% เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2566 โดยมีทุนจดทะเบียนเลิกอยู่ที่ 54,804.37 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 49,707.54 ล้านบาท คิดเป็น 975.26% เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2567 และเพิ่มขึ้น 46,564.47 ล้านบาท คิดเป็น 565.11% เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2566 ทั้งนี้ มูลค่าทุนจดทะเบียนเลิกสูงผิดปกติเป็นผลมาจากการเลิกประกอบกิจการของ 2 บริษัทขนาดใหญ่เนื่องจากมีการปรับโครงสร้างการดำเนินงานของธุรกิจให้คล่องตัวยิ่งขึ้น สำหรับธุรกิจที่เลิกประกอบกิจการ 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 98 ราย ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 59 ราย และธุรกิจให้คำปรึกษาด้านการบริหารจัดการอื่นๆ 25 ราย คิดเป็นสัดส่วน 9.76%, 5.88% และ 2.49% ของจำนวนการเลิกประกอบกิจการเดือนพฤษภาคม 2567 ตามลำดับ
ปัจจุบัน (31 พฤษภาคม 2567) มีธุรกิจที่จดทะเบียนนิติบุคคลรวมทั้งสิ้น 1,916,267 ราย โดยจำนวนนี้เป็นนิติบุคคลที่ดำเนินกิจการอยู่จำนวน 916,634 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียนอยู่ที่ 22.26 ล้านล้านบาท แบ่งออกเป็นบริษัทจำกัดจำนวน 714,143 ราย คิดเป็น 77.91% ของจำนวนนิติบุคคลที่ดำเนินกิจการอยู่ทั้งหมด ทุนจดทะเบียน 16.02 ล้านล้านบาท ห้างหุ้นส่วนจำกัดและห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลจำนวน 201,031 ราย คิดเป็น 21.93% ของจำนวนนิติบุคคลที่ดำเนินกิจการอยู่ทั้งหมด ทุนจดทะเบียน 0.47 ล้านล้านบาท และบริษัทมหาชนจำกัด จำนวน 1,460 ราย คิดเป็น 0.16% ของจำนวนนิติบุคคลที่ดำเนินกิจการอยู่ทั้งหมด ทุนจดทะเบียน 5.77 ล้านล้านบาท
ปี 2567 มีนิติบุคคลที่ต้องนำส่งงบการเงินอยู่ทั้งหมดจำนวน 835,011 ราย ในจำนวนนี้เป็นนิติบุคคลที่มีรอบปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2566 จำนวน 671,823 ราย และต้องนำส่งงบการเงินภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2567 คิดเป็น 80% ของนิติบุคคลทั้งหมดที่ต้องนำส่งงบการเงิน โดยได้นำส่งงบการเงินตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดจำนวน 581,856 ราย คิดเป็น 86.6% ในจำนวนนี้ยังมีนิติบุคคลที่ไม่ได้นำส่งอีกจำนวน 89,967 ราย คิดเป็น 13.4% ทั้งนี้ นิติบุคคลที่ไม่ได้ส่งงบการเงินภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด กรมฯ จะออกหนังสือแจ้งข้อกล่าวหา โดยอัตราค่าปรับจะเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาที่ล่าช้า จึงขอเตือนให้นิติบุคคลที่ยังไม่ได้นำส่งงบการเงินเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด รวมถึงนิติบุคคลอื่นๆ ที่จะกำลังจะถึงรอบการนำส่งงบการเงินโปรดเตรียมตัวให้พร้อมและนำส่งงบการเงินให้อยู่ภายในกรอบระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนด
จากการนำส่งงบการเงินประจำปี 2566 กรมฯ ได้นำข้อมูลผลประกอบการของนิติบุคคลมาวิเคราะห์ ในเชิงธุรกิจพบว่า รายได้ของนิติบุคคลทั่วประเทศมีจำนวนกว่า 57.86 ล้านล้านบาท และมีผลกำไรกว่า 2.34 ล้านล้านบาท โดยกลุ่มภาคการผลิต สามารถทำรายได้สูงสุดจำนวน 23.72 ล้านล้านบาท คิดเป็น 41.00% ของรายได้ทั้งหมด เป็นผลกำไรจำนวน 1.10 ล้านล้านบาท คิดเป็น 47.03% ของกำไรสุทธิทั้งหมด รองลงมาคือกลุ่มภาคขายส่ง/ปลีก ทำรายได้ 23.32 ล้านล้านบาท คิดเป็น 40.30% ของรายได้ทั้งหมด ทำกำไรอยู่ที่ 0.46 ล้านล้านบาท คิดเป็น 19.57% ของกำไรสุทธิทั้งหมด และกลุ่มภาคบริการ ทำรายได้จำนวน 10.82 ล้านล้านบาท คิดเป็น 18.70% ของรายได้ทั้งหมด เป็นผลกำไรจำนวน 0.78 ล้านล้านบาท คิดเป็น 33.40% ของกำไรสุทธิทั้งหมด
กรมฯ ยังได้วิเคราะห์ต่อเนื่องลงลึกไปถึงรายธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้สูงสุด 10 อันดับแรกได้แก่
- ธุรกิจผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากโรงกลั่นปิโตรเลี่ยม ทำรายได้ 3.84 ล้านล้านบาท
- ธุรกิจขายส่งนาฬิกาและเครื่องประดับ ทำรายได้ 3.12 ล้านล้านบาท
- ธุรกิจร้านขายปลีกเครื่องประดับ ทำรายได้ 2.39 ล้านล้านบาท
- ธุรกิจผลิตรถยนต์ส่วนบุคคล ทำรายได้ 1.56 ล้านล้านบาท
- ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริมอื่นๆ สำหรับยานยนต์ ทำรายได้ 1.55 ล้านล้านบาท
- ธุรกิจขายยานยนต์ใหม่ชนิดรถนั่งส่วนบุคคลฯ ทำรายได้ 1.45 ล้านล้านบาท
- ธนาคารพาณิชย์ ทำรายได้ 1.11 ล้านล้านบาท
- ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ทำรายได้ 1.07 ล้านล้านบาท
- ธุรกิจขายปลีกเชื้อเพลิงยานยนต์ในร้านเฉพาะสถานีบริการน้ำมัน ทำรายได้ 1.02 ล้านล้านบาท และ
- ธุรกิจขายส่งเชื้อเพลิงเหลว ทำรายได้ 0.96 ล้านล้านบาท
อย่างไรก็ดี ธุรกิจทั้ง 10 อันดับที่กล่าวมาข้างต้นส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดไซส์ L ที่สามารถทำรายได้สูงสุดในธุรกิจแต่ละประเภท
นอกจากนี้ จากกระแส Art Toy ของเล่นสะสมที่สร้างสรรค์งานศิลปะโดยศิลปินจากต่างประเทศและศิลปินไทยก็กำลังเป็นที่นิยมทั่วโลก ส่งผลให้ ‘ธุรกิจของเล่น’ กลายเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ต้องจับตามอง แม้ในช่วง 5 ปี ย้อนหลังที่ผ่านมา (พ.ศ. 2562-2566) ธุรกิจของเล่นจะมีการเติบโตที่ผันผวนเพราะมีปัจจัยด้านการแพร่ระบาดของโควิด19 มาส่งผลกระทบเชิงลบ แต่เมื่อสถานการณ์สงบลงธุรกิจของเล่นก็ใช้เวลาไม่นานที่สามารถกลับมาพลิกฟื้นธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็ก (S) ที่ครองตลาดส่วนใหญ่มากถึง 1,024 ราย แบ่งเป็นกลุ่มผู้ผลิตจำนวน 220 ราย และกลุ่มขายจำนวน 804 ราย คิดเป็น 93.7% จากจำนวนธุรกิจของเล่นที่มีจำนวน 1,093 ราย แบ่งเป็นกลุ่มผู้ผลิตจำนวน 238 ราย และกลุ่มขายจำนวน 855 ราย มีมูลค่าทุนจดทะเบียนทั้งหมด 5,692.21 ล้านบาท แบ่งเป็นกลุ่มผลิตจำนวน 2,909.61 ล้านบาท และกลุ่มขายจำนวน 2,782.60 ล้านบาท สำหรับปี 2566 ธุรกิจของเล่นสามารถสร้างรายได้รวมถึง 19,677.21 ล้านบาท และทำกำไรได้ 467.62 ล้านบาท การเติบโตของธุรกิจของเล่นส่วนสำคัญเป็นผลมาจากการเกิดกลุ่มในวงการของเล่นที่เรียกว่า Kidult ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ใหญ่ที่มีความนิยมในการสะสมของเล่นและมีกำลังการซื้อสูงเพื่อตอบสนองความต้องการของตนเองในวัยเด็ก การสะสมเพื่อสร้างรายได้ในอนาคต อธิบดี กล่าวทิ้งท้าย