SKF และ voestalpine Wire Technology ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของกลุ่มเหล็กและเทคโนโลยีชั้นนำ voestalpine ประสบความสำเร็จในการผลิตตลับลูกปืนต้นแบบตัวแรกที่ทำจากเหล็กกล้าที่ประกอบด้วยเหล็กลดไฮโดรเจนโดยตรง (hydrogen direct reduced iron) หรือ H-DRI แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าในความพยายามลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในการผลิตตลับลูกปืน เนื่องจาก H-DRI เป็นทางเลือกสำหรับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำเมื่อเทียบกับการผลิตเหล็กกล้าจากสินแร่เหล็กแบบเดิม และเป็นหนึ่งในวิธีการสำคัญในการสร้างเหล็กกล้าให้มีความยั่งยืนในอนาคต
SKF และ voestalpine ทำงานร่วมกันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565 เพื่อสำรวจความเป็นไปได้ในการนำเหล็กกล้า H-DRI มาใช้กับตลับลูกปืน ซึ่งการใช้เหล็กกล้า H-DRI นี้ SKF และ voestalpine Wire Technology ได้มุ่งเป้าไปที่การตอบสนองความต้องการเหล็กกล้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และด้วยแนวทางนี้ จึงมีส่วนสนับสนุนความพยายามระดับโลกในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ต้นแบบตลับลูกปืนเม็ดโค้ง (spherical roller bearing) ถูกส่งมอบให้กับ voestalpine Wire Technology ที่โรงงานของ SKF ในเมือง Steyr ประเทศออสเตรีย ตลับลูกปืนเม็ดโค้งสามารถนำไปใช้งานในอุตสาหกรรมต่างๆ มากมาย เช่น การเดินเรือ การผลิตเยื่อและกระดาษ การทำเหมืองแร่ และการก่อสร้าง
Annika Ölme, CTO และรองประธานอาวุโสฝ่ายพัฒนาเทคโนโลยีของ SKF กล่าวว่า — “เหล็กกล้าเป็นวัตถุดิบที่สำคัญในตลับลูกปืน และเพื่อให้บรรลุถึงการเปลี่ยนแปลงและทำได้เร็วตามที่จำเป็นต่อการลดการปล่อยคาร์บอนจากการผลิตตลับลูกปืน อุตสาหกรรมทั้งหมดจึงต้องร่วมมือกัน โดยที่ความร่วมมือของเรากับ voestalpine เป็นตัวอย่างที่จับต้องได้สำหรับวิธีที่เราทำงานร่วมกันและเปลี่ยนแนวคิดไปสู่การปฏิบัติเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมแบบวงกลมมากขึ้น และเทคโนโลยีนี้เป็นพื้นฐานของการลดการปล่อยคาร์บอนด้วยความมั่นใจสำหรับอุตสาหกรรมเหล็กกล้า”
นอกจากนี้ SKF ยังเพิ่มการใช้กระบวนการผลิตเหล็กกล้าที่มีการปล่อย CO₂ ต่ำ (เช่น การผลิตเตาอาร์กไฟฟ้าที่ใช้เศษเหล็ก) จากซัพพลายเออร์ อีกทั้งในปี พ.ศ. 2564 SKF ยังเข้าเป็นสมาชิกแรกเริ่มในโครงการ SteelZero และ ResponsibleSteel ซึ่งเป็นการเข้าร่วมกับธุรกิจอื่นๆ ที่มีแนวคิดเดียวกัน ทำให้เห็นถึงความมุ่งมั่นอย่างชัดเจนในการลดการปล่อยคาร์บอนในอุตสาหกรรมเหล็กภายในปี พ.ศ. 2593 และสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่จำเป็นต่อลดการปล่อยคาร์บอน
ที่มา: SKF