ย้ายระบบ IT ขึ้น Cloud อย่างมั่นใจ ด้วยหลักการ 7R และโครงการ AWS Lift ที่จะช่วยลดค่าใช้จ่าย Cloud ลงได้สูงสุดกว่า 65%

การย้ายระบบ IT ขึ้น Cloud นั้นถือเป็นหนึ่งในสิ่งที่ธุรกิจองค์กรและเหล่า SMB หลายแห่งทั่วไทยกำลังต้องเร่งดำเนินการ เพื่อลดค่าใช้จ่ายและความซับซ้อนในการดูแลรักษาระบบ IT ของธุรกิจ และเร่งสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันใหม่ๆ ด้วยการเพิ่มความยืดหยุ่นจากการนำความสามารถใหม่ๆ ของ Cloud มาประยุกต์ใช้

ในบทความนี้ เราจะพาทุกท่านไปรู้จักกับหลักการ 7R ที่ผู้ดูแลระบบ IT ทุกท่านควรทำความรู้จักเอาไว้ เพื่อใช้ในการตัดสินใจออกแบบระบบในการย้ายขึ้นสู่ Cloud พร้อมแนะนำโครงการ AWS Lift ที่จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการใช้ Cloud ลงได้สูงสุดกว่า 65% เพื่อให้ธุรกิจสามารถย้ายระบบ IT ขึ้น Cloud ได้อย่างคุ้มค่ายิ่งกว่าที่เคย

รู้จักกับโครงการ AWS Lift: ยิ่งใช้ AWS ยิ่งได้รับ Cloud Credit ลดค่าใช้จ่ายในการใช้ Cloud

โครงการ AWS Lift คือโครงการที่จะช่วยให้ธุรกิจองค์กรต่างๆ สามารถทำ Digital Transformation บนบริการ Cloud ของ AWS ได้อย่างคุ้มค่ายิ่งขึ้น และช่วยให้ธุรกิจ IT สามารถปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจมาสู่ผู้ให้บริการ Managed Services สำหรับ AWS ได้ง่ายดายยิ่งขึ้น

ภายในโครงการดังกล่าว จะมีการสนับสนุน AWS Promotional Credits ซึ่งเป็น Credit สำหรับการใช้งานบริการต่างๆ บน AWS ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม เริ่มต้นที่ 750USD หรือประมาณ 27,000 บาท และรวมกันสูงสุดถึง 83,500USD หรือประมาณ 3,000,000 บาทเลยทีเดียว

ด้วยเหตุนี้ โครงการ AWS Lift จึงเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับธุรกิจองค์กรที่มีความสนใจในการใช้งานบริการ Cloud จาก AWS สำหรับการใช้งานในธุรกิจ, ธุรกิจ SI และ Software House ที่ต้องการเริ่มต้นนำบริการ Cloud จาก AWS ไปให้บริการแก่ลูกค้าของตนเอง และธุรกิจใดๆ ที่ต้องการเริ่มต้นเรียนรู้การใช้งาน AWS โดยมี AWS Promotional Credits สำหรับสนับสนุนการเรียนรู้และการสอบ Certificate

ตรวจสอบรายละเอียด เงื่อนไข และลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ AWS Lift ได้ทันทีที่ https://go.techtalkthai.com/2023/11/join-aws-lift-program-with-sis-distribution/

หลักการ 7R: 7 แนวทางที่ธุรกิจต้องพิจารณาในการย้ายระบบขึ้นสู่ Cloud

โดยทั่วไปแล้ว การย้ายระบบขึ้นสู่ Cloud สำหรับแต่ละธุรกิจองค์กรนั้นมักมีรูปแบบและแนวทางที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งทาง AWS เองในฐานะของผู้นำด้านระบบ Cloud ระดับโลก ก็ได้แบ่งรูปแบบการย้ายระบบขึ้นสู่ Cloud ออกเป็น 7 รูปแบบด้วยกัน ซึ่งเรียกรวมๆ ว่า 7R

ธุรกิจองค์กรสามารถเลือกพิจารณาตามความเหมาะสมได้ว่า Workload ใดควรใช้วิธีการใดในการย้ายระบบขึ้นสู่ Cloud ให้ตอบโจทย์ทั้งความต้องการทางธุรกิจ และข้อดีเชิงเทคนิคที่จะเกิดขึ้นต่อแต่ละระบบ IT ในระยะยาว ดังนี้

1. Relocate

Relocate นั้นคือแนวทางพื้นฐานที่ธุรกิจองค์กรหลายแห่งเลือกใช้งาน เนื่องจากหลายองค์กรนั้นได้มีการใช้งาน VMware vSphere เป็นระบบ IT Infrastructure หลักในการจัดการกับระบบ IT ต่างๆ อยู่แล้ว ซึ่ง AWS สามารถรองรับการใช้งาน VMware vSphere บน Cloud ได้อย่างสมบูรณ์

แนวทาง Relocate นี้จึงเป็นการย้าย VM ที่อยู่บน VMware vSphere ขึ้นสู่ AWS โดยตรง ทำให้ไม่ต้องมีการปรับเปลี่ยนการทำงานของระบบแต่อย่างใด ด้วยการใช้ VM เดิม และโครงสร้างของ Internal Network แบบเดิมทั้งหมด และเพิ่มช่องทางการเชื่อมต่อจาก Virtual Private Cloud (VPC) ของ AWS มายังระบบเครือข่ายขององค์กร เพียงเท่านี้ธุรกิจก็จะสามารถทำการย้ายระบบขึ้นสู่ Cloud และใช้งานระบบ IT ได้ต่อเนื่องเสมือนไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

2. Rehost

Rehost หรือเป็นที่รู้จักในอีกชื่อหนึ่งว่า Lift-and-Shift คือแนวทางที่มักใช้ในการย้ายระบบที่มีขนาดใหญ่มากขึ้นสู่ Cloud และต้องดำเนินการให้เสร็จอย่างรวดเร็ว

ทาง AWS นั้นมีบริการที่ชื่อว่า AWS Application Migration Service สำหรับช่วยย้ายระบบขนาดใหญ่ที่มีความซับซ้อนสูงขึ้นสู่ AWS ได้อย่างราบรื่น โดยมีขั้นตอนการทำงานดังนี้

Credit: AWS
  • Map Environment ทำการระบุว่ามี Physical Server, VM และ Cloud Server ใดบ้างที่ต้องการย้ายขึ้นสู่ AWS ไปยังบริการใด
  • Setup กำหนด Template สำหรับการย้ายระบบแต่ละส่วนขึ้นไปยัง AWS พร้อมใช้เครื่องมือในการทำ Data Replication เพื่อย้ายข้อมูลของระบบดั้งเดิมขึ้นมาสู่ AWS ได้อย่างลื่นไหล
  • Test เปิดใช้งาน Instance เพื่อทำการทดสอบการทำงานและความถูกต้องของระบบ ก่อนที่จะทำการ Cutover เพื่อย้ายระบบมาใช้บน Cloud โดยไม่ต้องหยุดการทำงานของระบบเดิม
  • Migrate ทำการ Cutover ปิดระบบเดิม และใช้ระบบใหม่บน Instance ที่ทำงานอยู่บน AWS
  • Modernize เสริมความสามารถในการบริหารจัดการ ความมั่นคงทนทาน ประสิทธิภาพ และความมั่นคงปลอดภัยให้กับระบบใหม่ที่ย้ายขึ้นมาสู่ AWS ด้วยเครื่องมืออย่าง AWS Systems Manager, AWS Elastic Disaster Recovery และอื่นๆ

แนวทางนี้ได้รับความนิยมในเหล่าธุรกิจองค์กรที่ต้องการย้ายระบบขึ้นสู่ Cloud ในกรอบระยะเวลาอันสั้น เพื่อให้ธุรกิจสามารถเริ่มต้นใช้ Cloud ได้อย่างรวดเร็วที่สุด แล้วจึงค่อยวางแผนในการทำ Optimization ในภายหลังเพิ่มเติมต่อไปหลังจากได้เรียนรู้การใช้งาน Cloud จนมีความเชี่ยวชาญแล้ว

3. Re-Platform

Re-platform หรือเป็นที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า Lift-Tinker-and-Shift คือแนวทางที่คล้ายคลึงกับการทำ Rehost แต่จะมีการเพิ่มขึ้นตอนในการทำ Cloud Optimization ขึ้นมาเพื่อให้ธุรกิจสามารถใช้งานระบบ IT เดิมบน AWS ได้อย่างคุ้มค่ายิ่งขึ้น ซึ่งขั้นตอนการทำ Optimization นี้จะเกิดขึ้นในระดับของระบบ ซึ่งจะไม่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงสถาปัตยกรรมใดๆ ของ Application แต่อย่างใด

ธุรกิจองค์กรหลายแห่งมักเลือกใช้แนวทางนี้ในการย้ายระบบขึ้นสู่ Cloud โดยที่ไม่เร่งร้อนมากนัก เพราะขั้นตอนการ Optimize นั้นอาจต้องมีการทดสอบ ปรับแต่ง แก้ไข และทดสอบควบคู่ไปในระหว่างการย้ายระบบด้วยเสมอ แต่ในระยะยาวก็มีความคุ้มค่าที่สูงกว่า เพราะระบบจะได้ใช้งานทรัพยากรบน Cloud อย่างคุ้มค่าสูงสุด และได้เลือกใช้องค์ประกอบที่ดีที่สุดบน Cloud ในการให้บริการแต่ละภาคส่วน รวมถึงยังสามารถลดค่าใช้จ่ายในการใช้ Cloud ในระยะยาวลงได้เป็นอย่างดี

4. Repurchase

Repurchase หรือเป็นที่รู้จักในอีกชื่อหนึ่งว่า Drop and Shop คือการพิจารณาว่าในการย้ายระบบขึ้นสู่ Cloud นั้น จะมีการจัดซื้อ Software รุ่นใหม่ หรือเปลี่ยนไปใช้ Solution ใหม่เลยบน Cloud ไปในเวลาเดียวกันเลยหรือไม่ ซึ่งกรณีดังกล่าวนี้มักเกิดขึ้นกับระบบ Business Application สำคัญขององค์กรที่มีการใช้งานมาเป็นระยะเวลานาน และกลยุทธ์ขององค์กรนั้นสนับสนุนให้เกิดการอัปเกรดครั้งใหญ่ในระดับ Application ควบคู่ไปกับระดับของ Cloud Infrastructure

แนวทางนี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากสำหรับระบบ ERP, CRM, WMS และระบบ Business Application อื่นๆ รวมถึงกรณีของการย้ายระบบ Website ของธุรกิจขึ้นสู่ Cloud ที่จะได้มีการปรับโครงสร้างของ Website ไปใช้ระบบ Web Server, Database Server และ Backup รุ่นใหม่ล่าสุดไปในเวลาเดียวกัน

5. Refactor

Refactor นั้นมีอีกชื่อเรียกหนึ่งว่า Rearchitecting ซึ่งจะอาศัยโอกาสในการย้ายระบบขึ้นสู่ Cloud นั้นในการปรับปรุงสถาปัตยกรรมของระบบ Application ไปในเวลาเดียวกัน มักจะถูกใช้ในการเปลี่ยนระบบ Application ดั้งเดิมไปสู่การใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็น Container, Microservices, Serverless Computing หรือการนำ Continuous Integration/Continuous Delivery (CI/CD) เข้ามาใช้งานในองค์กร

แนวทางนี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากสำหรับ Application ขนาดใหญ่ที่ยังใช้สถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิม และย้ายขึ้นสู่ Cloud เพื่อประโยชน์ทั้งในเชิงของการดูแลรักษา, การเพิ่มประสิทธิภาพ และการพัฒนา Software ด้วยกระบวนการใหม่ๆ ที่มีความต่อเนื่องและยืดหยุ่นยิ่งกว่าเดิม

6. Retain

ไม่ใช่ทุก Application ที่จะเหมาะสมต่อการย้ายขึ้นสู่ Cloud ซึ่งหากธุรกิจได้พิจารณาประเด็นนี้และเล็งเห็นถึงความเหมาะสมในการใช้ Application บน On-Premises IT Infrastructure แบบดั้งเดิมแล้ว การเก็บระบบเอาไว้ภายในองค์กรแบบเดิมนั้นจะถูกเรียกว่า Retain

อย่างไรก็ดี ในการ Retain นี้ก็ไม่ได้หมายถึงการใช้งาน Physical Server หรือระบบ Virtualization แบบดั้งเดิมเสมอไป เพราะปัจจุบันธุรกิจมีทางเลือกใหม่ๆ อย่างการนำโซลูชัน Hybrid Cloud เข้าไปใช้แล้ว และทาง AWS เองก็มีบริการ AWS Outposts ที่จะเป็นการยกระบบของ AWS ไปติดตั้งใช้งานภายในองค์กรโดยตรง เพื่อเปลี่ยนประสบการณ์การจัดการระบบ On-Premises ให้เป็นเหมือน Cloud และพร้อมจะย้ายระบบขึ้นสู่ Public Cloud ของ AWS เมื่อใดก็ได้ตามต้องการ

7. Retire

ทางเลือกสุดท้ายที่มักเกิดขึ้นกับหลายระบบ Application ของธุรกิจนั้นก็คือการตัดสินใจยกเลิกการใช้งานระบบนั้นๆ ซึ่งแนวทางนี้จะถูกเรียกว่า Retire และมักเกิดขึ้นเมื่อธุรกิจได้ทำการ Assess ระบบเตรียมย้ายขึ้นสู่ Cloud และพบว่ามีหลาย Application ที่ไม่จำเป็นแล้ว หรือมีความซ้ำซ้อนภายในองค์กร ดังนั้นหลายครั้งที่ภายในโครงการย้ายระบบขึ้นสู่ Cloud ธุรกิจมักใช้โอกาสนี้ในการค้นหาและจำกัดระบบที่ไม่จำเป็นต่อธุรกิจออกไปในเวลาเดียวกัน

การพิจารณาระบบ IT ของธุรกิจองค์กรทั้งหมด ว่าแต่ละระบบเหมาะสมกับแนวทางใดในหลักการ 7R นี้จะช่วยลดความสับสนในการวางแผนดำเนินการทำ Cloud Migration ลงได้เป็นอย่างดี และเป็นโอกาสสำคัญที่ธุรกิจจะได้พิจารณาถึงข้อดีข้อเสียของการย้ายแต่ละระบบให้มั่นใจมากขึ้น รวมถึงยังสามารถวางกรอบระยะเวลา และทรัพยากรที่จำเป็นต่อการย้ายแต่ละระบบด้วยแต่ละแนวทางได้เป็นอย่างดี

About pawarit

Check Also

PepsiCo เสร็จสิ้นการเข้าซื้อกิจการ SIETE FOODS มูลค่า 1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

PepsiCo ประกาศเมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2025 ที่ผ่านมาว่าได้ปิดการเข้าซื้อกิจการ Garza Food Ventures LLC, dba Siete Foods (“Siete”) ด้วยมูลค่า …

การกลับมาของมนุษย์ เพื่อเป็นศูนย์กลางขับเคลื่อน Industry 5.0 ในอุตสาหกรรมการผลิต สู่ความยั่งยืนและยืดหยุ่น

Industry 5.0 ในภาคการผลิตที่ซึ่งมนุษย์และเครื่องจักรโต้ตอบกันแบบเรียลไทม์ การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ครั้งนี้ทำให้ผู้ผลิต พนักงาน และกระบวนการต่าง ๆ ทำงานอย่างสอดประสานโดยมีมนุษย์เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อน ตั้งแต่การพิมพ์แบบ 3 มิติไปจนถึง AI กระบวนการผลิตอยู่ในจุดเปลี่ยนสำคัญ และเป็นครั้งแรกที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการให้ผู้ผลิตมีอำนาจในการดูกระบวนการของตนเองที่ชัดเจนมากขึ้น