LG Display (LGD) ได้นำระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่พัฒนาขึ้นเองมาปรับใช้ในกระบวนการผลิต OLED ซึ่งคาดว่าจะช่วยประหยัดต้นทุนการดำเนินงานได้กว่า 200,000 ล้านวอนเกาหลีใต้ (ประมาณ 139 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 4,813 ล้านบาท) ต่อปี
ตามรายงานจากสื่อเกาหลีใต้ อย่าง Money Today, Chosun Biz และ ET News เผยว่าโซลูชัน AI ของ LG Display ได้รับการออกแบบมาโดยเฉพาะสำหรับกระบวนการผลิต OLED ที่ซับซ้อน ช่วยให้สามารถรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลแบบเรียลไทม์ได้ ด้วยการผสานรวมความเชี่ยวชาญด้านการผลิต OLED อย่างครอบคลุม ทำให้สามารถเรียนรู้จากข้อมูลการผลิต วิเคราะห์สาเหตุของข้อบกพร่อง และสร้างโซลูชันโดยอัตโนมัติได้
กระบวนการผลิต OLED ประกอบด้วยขั้นตอนมากกว่า 140 ขั้นตอนที่ดำเนินการบนเครื่องจักรหลายเครื่อง โดยสร้างจุดข้อมูลหลายหมื่นจุดพร้อมกัน ความซับซ้อนนี้ทำให้ยากต่อการตรวจจับสาเหตุที่แน่นอนของข้อบกพร่อง แต่ด้วยระบบโซลูชัน AI สามารถระบุแหล่งที่มาของข้อบกพร่องได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ
ตามที่ LGD ระบุ การวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาโดยอาศัยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญส่วนบุคคลของวิศวกรนั้นใช้เวลาราว 3 สัปดาห์ แต่ปัจจุบันกระบวนการเดียวกันใช้เวลาเพียง 2 วันเท่านั้น ด้วยความช่วยเหลือจากพลังของ AI
ก่อนหน้านี้ LGD จะต้องอาศัยความเชี่ยวชาญของวิศวกรแต่ละคนในการแก้ไขปัญหาภายใต้ข้อจำกัด ปัจจุบัน LGD สามารถปรับกระบวนการผลิตในทุกผลิตภัณฑ์ได้ทันทีเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพที่เหมาะสมที่สุดที่ AI คาดการณ์ไว้ ระบบ AI จะตรวจสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่องตลอดกระบวนการผลิต ช่วยใช้สามารถระบุข้อบกพร่องและปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ LGD ยังได้นำระบบแจ้งเตือนข้อมูล AI แบบอัตโนมัติมาใช้ ซึ่งจะแจกจ่ายข้อมูลที่รวบรวมและวิเคราะห์แบบเรียลไทม์ทางอีเมลไปยังแผนกที่เกี่ยวข้องในทุกเช้า เมื่อ AI ตรวจพบความผิดปกติ ระบบจะระงับการทำงานของอุปกรณ์ที่ได้รับผลกระทบโดยอัตโนมัติ ช่วยให้มั่นใจได้ทั้งประสิทธิภาพและความปลอดภัย
LGD ได้เน้นย้ำว่า การนำ AI และการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่มาใช้ช่วยให้วิศวกรสามารถมุ่งเน้นไปที่งานที่มีความหนาแน่นสูงและมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก เช่น การพัฒนาโซลูชันและการปรับปรุงกระบวนการ แทนที่จะต้องรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลด้วยตัวเอง
สำหรับอนาคต LGD วางแผนที่จะเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในด้านการวิจัยและพัฒนาและการผลิตจอแสดงผล พร้อมทั้งส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลในกระบวนการทางธุรกิจทั่วไป และปรับปรุงมาตรฐานทางเทคนิคและผลผลิต