ข้อตกลงการซื้อขายพลังงานไฟฟ้าสำหรับองค์กรในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (Corporate Power Purchase Agreements: CPPA) เป็นแนวทางสำคัญสำหรับองค์กรต่างๆ ในการดำเนินการตามแผนการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)
เคพีเอ็มจี เปิดตัวรายงาน ‘การลดคาร์บอนด้วยพลังงานหมุนเวียน: จากภูมิทัศน์ข้อตกลงการซื้อขายพลังงานไฟฟ้าสำหรับองค์กรในเอเชียแปซิฟิก’ (Decarbonization through renewable energy: Understanding Asia Pacific’s Corporate Power Purchase Agreement landscape) ซึ่งได้ให้ข้อมูลในภาพรวมของตลาดพลังงานหมุนเวียนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

รายงานดังกล่าว ให้มุมมองที่ชัดเจนแก่องค์กรต่างๆ เกี่ยวกับตลาด CPPA รวมทั้งสรุปทั้งโอกาสและอุปสรรคในตลาดพลังงานหมุนเวียนในปัจจุบัน โดยได้วิเคราะห์ในเชิงนโยบายและข้อบังคับของรัฐบาล ประเภทของข้อตกลงการซื้อขายพลังงานไฟฟ้าขั้นพื้นฐานและสัญญาซื้อขาย และนโยบายและเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับพลังงานหมุนเวียนของโรงไฟฟ้ารายใหญ่ๆ นอกจากนี้ ยังให้รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับกรอบการวางแผนของตลาดพลังงานไฟฟ้า ข้อตกลงการซื้อขายพลังงานไฟฟ้าขององค์กร (CPPA) การรับรองพลังงานหมุนเวียน นโยบาย และตัวอย่างการซื้อและการขายพลังงานไฟฟ้าขององค์กร จาก 12 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
โดยรายงานเน้นย้ำถึงแนวโน้มสำคัญ 6 ประการที่ขับเคลื่อนการพัฒนาตลาดพลังงานหมุนเวียนในภูมิภาคนี้ในอนาคต
- ตลาด CPPA ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกยังคงมีการพัฒนาน้อย แต่มีศักยภาพในการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ
- กรอบกฎเกณฑ์ที่จะปรับเปลี่ยนข้อบังคับเกี่ยวกับ CPPA มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
- การยุติมาตรการส่งเสริมการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (Feed-in-tariff: FiT) คาดว่าจะเพิ่มความต้องการ CPPA
- ความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์และการวัดปริมาณไฟฟ้าสุทธิจากการขายและใช้ (net-metering) ได้ส่งเสริมการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar rooftop) และการทำข้อตกลงซื้อขายพลังงานไฟฟ้าแบบ on-site PPA[1] เพิ่มมากขึ้น
- ความสนใจใน CPPA เพิ่มขึ้นทั่วเอเชียแปซิฟิก เนื่องจากความต้องการบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน
- ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกำลังก้าวไปสู่อนาคตพลังงานคาร์บอนต่ำ
เนื่องจากมีหลายประเทศมากขึ้นที่ต้องการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและประกาศความมุ่งมั่นต่อการบรรลุการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ กลไกและมาตรการสนับสนุนจึงยังคงพัฒนาต่อไป นอกจากข้อกำหนดด้านกฎระเบียบในประเทศและต่างประเทศแล้ว ความต้องการให้องค์กรมีการดำเนินงานและระบบห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน ได้กลายเป็นแรงผลักดันให้องค์กรต่างๆ ซื้อพลังงานไฟฟ้าสีเขียว
สตีเวน เฉิน หัวหน้าฝ่ายอุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐานพลังงานระดับโลก เคพีเอ็มจี ไต้หวัน กล่าวว่า
“เป็นความท้าทายสำหรับธุรกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในการจัดหาพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน เนื่องจากความพร้อมใช้งานที่จำกัด ความซับซ้อนของกฎระเบียบ และต้นทุนที่สูง แต่สิ่งที่องค์กรควรตระหนักคือความท้าทายนี้ยังเป็นโอกาสสำคัญที่สุดสำหรับการลงทุนและการเติบโตของพลังงานสะอาด ตราบที่องค์กรเข้าใจความซับซ้อนของสภาพแวดล้อมที่ธุรกิจดำเนินการอยู่ และสามารถปรับใช้กลยุทธ์ให้เหมาะสม”
ตามข้อตกลงปารีส มีเป้าหมายที่จะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้นและวิกฤตด้านพลังงานทั่วโลกที่เกิดจากความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ราคาพลังงานหมุนเวียนเพิ่มสูงขึ้น “สถานการณ์นี้อาจส่งผลให้เกิดผลลัพธ์ที่สำคัญสองประการ ประการแรก องค์กรธุรกิจต่างเต็มใจที่จะเข้าสู่ข้อตกลงการซื้อขายพลังงานไฟฟ้าระยะยาวมากขึ้น เนื่องจากมีการกระจายความเสี่ยงจากราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น ประการที่สอง สหภาพยุโรปและรัฐบาลอื่นๆ ได้ประสานความมั่นคงด้านพลังงานกับโซลูชั่นพลังงานสะอาด ซึ่งจะช่วยเร่งการปรับใช้พลังงานหมุนเวียนทั่วโลก” ไมเคิล เฮส์ หัวหน้าฝ่ายพลังงานหมุนเวียนระดับโลก เคพีเอ็มจีอินเตอร์เนชันแนล กล่าว
ทุกตลาดในภูมิภาคนี้มีความคืบหน้าในการเปิดเสรีตลาดพลังงานไฟฟ้าและกรอบการกำกับดูแลที่แตกต่างกัน ซึ่งทำให้การจัดซื้อพลังงานสีเขียวมีความท้าทาย และส่งผลกระทบต่อเส้นทางสู่คาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ “เอเชียแปซิฟิกเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่เปราะบางที่สุดในโลกในแง่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รัฐบาลหลายประเทศผลักดันให้ใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงาน ส่งผลให้มีสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมหมุนเวียนมากขึ้น นอกจากเป้าหมายคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในระดับประเทศแล้ว การจัดซื้อพลังงานไฟฟ้าทดแทนในระดับองค์กรมีความสำคัญอย่างยิ่งในการดำเนินการตามความมุ่งมั่นของ RE100[2] และเป้าหมายตามหลักวิทยาศาสตร์” นีเวน หวง หัวหน้าฝ่ายสิ่งแวดล้อม สังคม บรรษัทภิบาล (ESG) เคพีเอ็มจี เอเชียแปซิฟิก กล่าว
“ประเทศไทยได้ให้คำสัญญาที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 20-25 ภายในปี 2573” กาเนสัน โคลันเดอเวลู หัวหน้าฝ่ายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความยั่งยืน เคพีเอ็มจี ประเทศไทย กล่าว “ด้วยปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนอย่างเต็มที่ การออกมาตรการต่างๆเพื่อสนับสนุนองค์กรที่มีนโยบายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และออกกฎระเบียบที่ชัดเจนเกี่ยวกับ CPPA, Net metering และ off-site PPA[3]

ทั้งนี้เนื่องด้วยความซับซ้อนในการออกกฎระเบียบต่างๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน พร้อมทั้งมีผู้เชี่ยวชาญที่มีความเข้าใจเข้าร่วมในกระบวนการดังกล่าว”
ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมและดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็มได้ที่ ‘Decarbonization through renewable energy: Understanding Asia Pacific’s Corporate Power Purchase Agreement landscape’
[1] ข้อตกลงที่บริษัทจำหน่ายแผงและระบบโซลาร์เป็นผู้ลงทุนในอุปกรณ์ การติดตั้ง และซ่อมแซมระบบ และภาคธุรกิจจ่ายค่าไฟฟ้าที่ผลิตจากแผงโซลาร์ตามระยะสัญญา
[2] โครงการด้านพลังงานหมุนเวียนของเครือข่ายระดับโลกที่รวบรวมธุรกิจขนาดใหญ่หลายร้อยองค์กรและมีเป้าหมายที่จะใช้พลังงานหมุนเวียนให้ได้ร้อยละ 100
[3] ข้อตกลงที่ไม่มีการติดตั้งอุปกรณ์ระบบโซลาร์ในพื้นที่ของลูกค้า แต่เป็นการซื้อพลังงานไฟฟ้าสีเขียวจากผู้ผลิตพลังงานหมุนเวียน
เกี่ยวกับเคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล
เคพีเอ็มจี เป็นเครือข่ายระดับโลกของบริษัทที่ให้บริการตรวจสอบบัญชี ภาษี และที่ปรึกษาธุรกิจ เคพีเอ็มจี เป็นแบรนด์ภายใต้บริษัทสมาชิกของ เคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (“เคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล”) ดำเนินการและให้บริการอย่างมืออาชีพ “เคพีเอ็มจี” ใช้เพื่ออ้างถึงบริษัทสมาชิกแต่ละแห่งภายในเครือข่าย เคพีเอ็มจี หรือบริษัทสมาชิกหนึ่งหรือหลายบริษัทรวมกัน
เครือข่าย เคพีเอ็มจี ดำเนินงานใน 144 ประเทศ และเขตการปกครอง โดยมีหุ้นส่วนและพนักงานมากกว่า 236,000 คน
บริษัท เคพีเอ็มจี แต่ละแห่งเป็นนิติบุคคลที่แตกต่างกัน และแยกจากกันตามกฎหมาย บริษัทสมาชิก เคพีเอ็มจี แต่ละแห่งมีหน้าที่รับผิดชอบและหนี้สินของตนเอง
เคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เป็นบริษัทเอกชน ในประเทศอังกฤษ โดยการรับประกัน เคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ให้บริการแก่ลูกค้า
ท่านสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงสร้างองค์กรได้ที่ home.kpmg/governance
เกี่ยวกับ เคพีเอ็มจี ประเทศไทย
เคพีเอ็มจี ประเทศไทย มีพนักงานมากกว่า 2,000 คน ซึ่งให้บริการด้านการสอบบัญชีและการให้ความเชื่อมั่นอื่น ภาษี กฎหมายและให้คำปรึกษาทางธุรกิจ เคพีเอ็มจี ประเทศไทยเป็นสมาชิกของ เครือข่ายเคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นบริษัท เอกชน จำกัด ในอังกฤษ