การขับเคลื่อนด้านพลังงานโดยเน้นไปที่แหล่งพลังงานที่มีความยั่งยืน จึงจะสามารถให้ความมั่นใจได้ว่าการจำหน่ายพลังงานนั้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งแนวทางนี้กลายเป็นประเด็นที่มีความสำคัญในระดับโลก อย่างไรก็ตาม ภูมิทัศน์ด้านพลังงานในปัจจุบันกำลังเผชิญกับความท้าทายเนื่องจากการกระจายตัวของการจำหน่ายสาธารณูปโภคทั้งไฟฟ้า ความร้อน และก๊าซระหว่างผู้ประกอบการ ซึ่งการกระจายตัวดังกล่าวนำไปสู่การจำหน่ายพลังงานที่ไม่เหมาะสม และยากต่อการนำแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่เกิดขึ้นใหม่มารวมเข้ากับโครงข่ายพลังงาน

เพื่อรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ ศาสตราจารย์ Chenghui Zhang และศาสตราจารย์ Shuai Liu จากมหาวิทยาลัยซานตง ประเทศจีน ได้เสนอระบบ Meta-Energy โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อบูรณาการทั้งภาคการผลิต การส่ง การกักเก็บ และการใช้พลังงาน แทนที่จะมีเพียงการแชร์ข้อมูลโดยตรงระหว่างผู้เล่นด้านพลังงานต่างๆ แต่สำหรับระบบ Meta-Energy จะอาศัยประโยชน์จากแฝดดิจิทัลเพื่อบูรณาการอินเทอร์เน็ตทางพลังงาน (Integrated Energy Internet) ให้เป็นจริงได้ โดยมุมมองทางพลังงานนี้ได้รับการเผยแพร่แล้วในวารสาร IEEE/CAA Journal of Automatica Sinica, Volume 10, Issue 3

“การแบ่งปันสารสนเทศอุปสงค์และอุปทานด้านพลังงานใน metaverse จะสามารถจัดสรรพลังงานประเภทต่างๆ ได้ทั่วโลกและเป็นไปอย่างเหมาะสมที่สุด ช่วยลดการสิ้นเปลืองทรัพยากรที่เกิดจากความไม่สมมาตรทางสารสนเทศ” — ศาสตราจารย์ Zhang อธิบาย
เพื่อให้เป็นสะพานเชื่อมกันระหว่างสิ่งต่างๆ ทางกายภาพกับไซเบอร์สเปซ นักวิจัยได้สรุปองค์ประกอบสำคัญสี่ประการสำหรับระบบ Meta-Energy ของพวกเขา ได้แก่
- การเฝ้าตรวจและการรับรู้ได้แบบอัจฉริยะ
- การสื่อสารและการจัดการข้อมูลแบบอัจฉริยะ
- การสร้างแบบจำลองและการจำลองแบบอัจฉริยะ
- การปรับให้เหมาะสมที่สุดและการควบคุมแบบอัจฉริยะ
กรอบการทำงานในการเฝ้าตรวจและการรับรู้แบบอัจฉริยะ สามารถช่วยอำนวยความสะดวกในการรวบรวมและถ่ายโอนข้อมูลจากระบบทางกายภาพได้ตามเวลาจริง เมื่อการรวบรวมข้อมูลเสร็จสิ้นแล้ว กรอบการทำงานของการสื่อสารและการจัดการข้อมูลแบบอัจฉริยะจะกลายเป็นสิ่งสำคัญต่อการจัดเก็บ การจัดการ และการซิงโครไนซ์ข้อมูลภายไซเบอร์สเปซได้อย่างปลอดภัย หลังจากนั้น แฝดดิจิทัลจะถูกสร้างขึ้นโดยใช้กรอบการทำงานของเทคโนโลยีการสร้างแบบจำลองและการจำลองแบบอัจฉริยะ ประการสุดท้าย กรอบการทำงานของการปรับค่าให้เหมาะสมที่สุดและการควบคุมแบบอัจฉริยะ จะเข้ามาจัดการกับการตัดสินใจเพื่อให้การจัดหาและการจำหน่ายพลังงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ด้วยกรอบการทำงานเหล่านี้ metaverse จึงสามารถทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มอัจฉริยะที่ผู้จัดหาพลังงาน ผู้จำหน่าย และผู้ใช้ สามารถแบ่งปันข้อมูลระหว่างกัน เพื่อให้การจัดหาและการใช้พลังงานได้อย่างเหมาะสมที่สุด
ศาสตราจารย์ Liu กล่าวว่า — “ระบบดังกล่าวสามารถขจัดปัญหาการขาดแคลนพลังงาน ลดการสูญเสียพลังงาน สร้างผลกำไรให้กับผู้จัดหาพลังงานได้มากขึ้น และเพิ่มความพึงพอใจให้กับผู้ใช้พลังงาน”
การดำเนินการทางสารสนเทศและทางอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นมาควบคู่กันทั้งในโลกความเป็นจริงและโลกเสมือน เป็นสิ่งที่สมควรสร้างขึ้นเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานในโลกไซเบอร์ และการพัฒนา Meta-Energy เป็นขั้นตอนที่มีความชัดเจนอยู่แล้วสำหรับการพัฒนาตามทิศทางนั้น
ที่มา: IEEE/CAA Journal of Automatica Sinica