จากจุดประสงค์เริ่มต้นของบรรจุภัณฑ์ที่มีไว้เพื่อปกป้องผลิตภัณฑ์ ไปจนถึงการกระตุ้นยอดขายผ่านการมีส่วนร่วมของผู้บริโภค บทบาทของบรรจุภัณฑ์ยังพัฒนาไปไกลกว่านั้นมาก เมื่อทุกวันนี้มีการสร้างเป็นบรรจุภัณฑ์แบบสมาร์ทหรือฉลาด (smart/intelligent) และจะยังคงเป็นแนวโน้มแบบนี้ต่อไปอีก พร้อมกับมีหน้าที่การใช้งานต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ทั้งมาจากการติดตั้งเซนเซอร์ การพิมพ์ให้เป็นชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ติดอยู่ที่บรรจุภัณฑ์ และการติดตั้งชุดสื่อสารไร้สาย ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างมูลค่าจากการใช้งานด้วยวิธีการใหม่ๆ ตั้งแต่ใช้เป็นฉลากสำหรับงานโลจิสติกส์ ไปจนถึงการทำให้เกิดการมีส่วนร่วมกับผู้บริโภคมากขึ้น

ในรายงานล่าสุดของ IDTechEx เรื่อง “Smart Packaging 2023-2033” พบว่า ตลาดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อบรรจุภัณฑ์แบบสมาร์ท จะมีมูลค่าประมาณ 2.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี พ.ศ. 2576 แต่ก็มีคำถามอีกว่า จะนำบรรจุภัณฑ์แบบสมาร์ทไปใช้งานอย่างไร เพื่อสร้างมูลค่าได้ดีที่สุด
ป้ายติดตามพัสดุ
การเฝ้าตรวจสภาพและติดตามตำแหน่งของพัสดุไปตลอดห่วงโซ่โลจิสติกส์เป็นเรื่องที่ดี สามารถสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับสินค้าที่มีมูลค่าสูง หรือสิ่งของที่อาจเกิดความเสียหายได้ง่าย โดยเทคโนโลยีต่างๆ เหล่านี้ถูกนำไปใช้เพื่อการคัดแยกอุปกรณ์ในระดับแพลเลตอยู่แล้ว ในขณะที่บรรจุภัณฑ์แบบสมาร์นั้นสามารถใช้เพื่อการติดตามได้ในระดับกล่องสินค้า หรือแม้แต่ระดับสิ่งของรายชิ้นก็ทำได้
เทคโนโลยีต่างๆ อย่างเช่น แบตเตอรี่แบบพิมพ์/แบบยืดหยุ่นได้ (แบตเตอรี่ที่สร้างขึ้นด้วยวิธีการพิมพ์และวิธีการอื่นที่ทำให้บางๆ ได้ มีความหยุ่นตัว) และเซนเซอร์ สามารถช่วยลดต้นทุน และผลิตได้ในปริมาณมาก ทำให้สามารถนำมาใช้ติดตามสถานะของการจัดส่งแต่ละรายการได้ บริษัทด้านโลจิสติกส์ และแม้แต่บริษัทประกัน จึงสามารถติดตามได้ว่าสิ่งของแต่ละชิ้นนั้นมีการสูญหาย ถูกขโมย หรือถูกปฏิบัติอย่างไม่เหมาะสมเกิดขึ้นเมื่อใด ณ ที่ใด ช่วยจัดการกับปัญหาต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว และยังสามารถพิจารณายับยั้งไม่ให้เกิดผลกระทบได้
การติดฉลากสำหรับงานโลจิสติกส์ ยังสามารถสร้างคุณค่าให้กับธุรกิจแบบ ‘click-and-collect’ ซึ่งเป็นร้านค้าที่ให้บริการตามคำสั่งซื้อเช่นเดียวกับศูนย์กระจายสินค้า การติดตามในระดับสินค้ารายชิ้นในแบบเวลาจริงนั้นสามารถทำได้โดยบรรจุภัณฑ์เป็นแบบสมาร์ท เป็นการเพิ่มความแม่นยำให้กับระบบการจัดการสินค้าคงคลังที่มีความซับซ้อนมากขึ้น เพื่อให้ส่วนต่างๆ ของห่วงโซ่คุณค่าสามารถรับบทบาทไปจนเสร็จสิ้นตามภารกิจได้
การพิสูจน์เอกลักษณ์วัสดุสำหรับการรีไซเคิล
กระบวนการรีไซเคิลสมัยใหม่ยังขาดสิ่งที่จำเป็นอย่างมากต่อการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างแท้จริง ความจริงที่โชคร้าย คือ มีเพียงประมาณ 10% ของขยะทั้งหมดเท่านั้นที่ถูกรีไซเคิล สาเหตุหลักมาจากความยากลำบากในการคัดแยกวัสดุที่มีคุณสมบัติที่คล้ายคลึงกันมาไว้ด้วยกันให้มากที่สุด หรือการตัดสินว่าวัสดนั้นอยู่ในขอบเขตของการปนเปื้อนหรือไม่
เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ สหภาพยุโรปกำลังสำรวจวิธีการทางเทคโนโลยีที่อยู่บนพื้นฐานของบรรจุภัณฑ์แบบสมาร์ทในโครงการที่เรียกว่า HolyGrail 2.0 ‘digital watermark’ ซึ่งเป็นวิธีการสร้างรูปแบบเฉพาะทางดิจิทัลที่มองไม่เห็นที่มีการทำซ้ำกันเอาไว้ และฝังตัวไปกับลวดลายในการออกแบบของบรรจุภัณฑ์ตามปกติ ทำให้สามารถใช้กล้องตรวจจับเพื่อพิสูจน์ให้ได้ว่าผลิตภัณฑ์นั้นอยู่ในข้อกำหนดและอยู่ในเกณฑ์การรีไซเคิลได้ ซึ่งวิธีการนี้ต่างจากบาร์โค้ดตรงที่ ‘ลายน้ำดิจิทัล’ (digital watermark) ของบรรจุภัณฑ์แบบสมาร์ทนั้นมีความหมายครอบคลุมถึงตัววัตถุทั้งหมด ดังนั้นในการใช้งานจึงไม่สามารถมีสิ่งมาบดบังหรือทำให้เสียหายได้ ถ้าหากวิธีการนี้ได้รับคำสั่งให้ใช้กับบรรจุภัณฑ์ทั้งหมดในอนาคต เทคโนโลยีเช่นนี้จะช่วยให้ผู้รีไซเคิลสามารถคัดแยกขยะได้ง่ายโดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงคุณสมบัติของวัสดุเหลือใช้ทั้งหมด
การมีส่วนร่วมของผู้บริโภค
การระบาดใหญ่ของโรคติดเชื้อโควิด-19 ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้ทั่วโลกรับเอาเทคโนโลยี ID มาใช้กันมากขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งรหัส QR ดังนั้นหากนำรหัส QR มาใช้ให้เป็นแบบแผนอย่างรวดเร็วเพื่อการติดตามและตรวจสอบย้อนกลับ ก็จะทำให้รหัส QR เป็นบรรทัดฐานในการใช้งานสำหรับผู้บริโภค เป็นการกระตุ้นนำให้เจ้าของแบรนด์ต่างๆ ให้มาสนใจศึกษาและสำรวจการใช้บรรจุภัณฑ์แบบสมาร์ทกันมากขึ้น
ผลก็คือ มีการมุ่งเน้นไปที่ ‘ประสบการณ์การเชื่อมต่อ’ (connected experience) กันมากขึ้น โดยแบรนด์ต่างๆ สามารถสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้บริโภค ณ ที่ตั้งบนภาคพื้น ผ่านทางเทคโนโลยีสื่อสาร NFC หรือใช้รหัส QR ที่สแกนด้วยสมาร์ทโฟน ส่วนผู้บริโภค สามารถรับประโยชน์ในลักษณะของรางวัล ณ ที่ตั้งภาคพื้นได้ เช่น ให้ส่วนลด และสิ่งของให้ฟรีเป็นกรณีพิเศษ
สำหรับผู้บริโภคที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม การได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับ แหล่งที่มาของวัสดุ กระบวนการผลิต และผลกระทบจากคาร์บอน อาจเป็นความรู้ที่มีคุณค่าและเข้าถึงได้ ซึ่งอาจมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าเหล่านั้น ในขณะที่เจ้าของแบรนด์ สามารถนำเอา ‘ประสบการณ์การเชื่อมต่อ’ มาใช้เป็นเครื่องมือที่ยอดเยี่ยมในการรวบรวมข้อมูลลูกค้า และเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ในการสร้างแคมเปญการตลาด
การทำให้เป็นดิจิทัลของตลาดขายต่อ (resale markets) เป็นกรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นมาใหม่จาก ‘ประสบการณ์การเชื่อมต่อ’ อันเนื่องมาจากการเกิดความสะดวกในกระบวนการรับรองความถูกต้อง บรรจุภัณฑ์แบบสมาร์ทจึงช่วยให้เจ้าของแบรนด์สามารถสร้างตลาดของตนเอง และสามารถรักษามูลค่าทรัพย์สินภายใต้แบรนด์ของตนให้อยู่ในการควบคุมได้หลังจากที่เริ่มปล่อยออกไปจากจุดขายแล้ว ตัวอย่างเช่น eBay ได้เปิดตัววิธีการรับรองความถูกต้องผ่าน NFC สำหรับตลาดรองเท้าลำลอง และ Adidas ได้สร้าง Infinite Play ร่วมกับ Avery Dennison เพื่อสร้างบริการแลกเปลี่ยนในแอปมือถือของพวกเขา
บรรจุภัณฑ์แบบสมาร์ทมีกรณีการใช้งานที่หลากหลาย สามารถให้ประโยชน์ไปตลอดห่วงโซ่คุณค่า ตั้งแต่การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้บริโภคที่ดีขึ้น ไปจนถึงการอำนวยความสะดวกในการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน
ที่มา: IDTechEx