สัมภาษณ์พิเศษ การเผยแพร่งานวิจัย หัวข้อ “การวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยันความเป็นผู้ประกอบการภายใน (Intrapreneurship) ของธุรกิจเทคโนโลยีบ่งชี้อัตโนมัติ เพื่อรองรับความพลิกผันของเทคโนโลยี ในประเทศไทย”

รายงานวิจัยโดย ว่าที่ร้อยตรี ดร.คมกริช ไพฑูรย์ และ อาจารย์ ดร.กานต์จิรา ลิมศิริธง (2565) “การวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยันความเป็นผู้ประกอบการภายใน (Intrapreneurship) ของธุรกิจเทคโนโลยีบ่งชี้อัตโนมัติ เพื่อรองรับความพลิกผันของเทคโนโลยี ในประเทศไทย” อ้างอิงจากการตีพิมพ์ครั้งที่ 1 (วารสารวิจัยราชภัฏเชียงใหม่, 7, 109-125) ซึ่งทาง FactoryTalkThai เว็บไซต์ในเครือของ TechTalkThai ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษผู้ร่วมทำการวิจัยทั้งสองท่านเกี่ยวกับแนวโน้มทิศทางของเทคโนโลยี Automatic Identification ปัจจุบัน รวมถึงการวิเคราะห์คาดการณ์ทิศทางในอนาคต 3 – 5 ปี

การก้าวเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 การปฏิวัติอุตสาหกรรมขั้นที่ 4 เป็นการยกระดับประสิทธิภาพด้านเทคโนโลยีในภาคส่วนอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผสานรวมข้อมูลและการวิเคราะห์เชิงปฏิบัติในกระบวนการทำงานของเครื่องจักร ทำให้อุตสาหกรรมส่วนต่างๆ มีความรวดเร็ว ความยืดหยุ่น และมีผลผลิตที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

การปฏิวัติภาคอุตสาหกรรม ควบคู่ไปกับนโยบายของภาครัฐบาล Thailand 4.0 วิสัยทัศน์ที่มุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไทยไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ ด้วยแนวคิดที่จะเปลี่ยนจากการผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ไปเป็นการผลิตสินค้าที่เกิดจากนวัตกรรม และเปลี่ยนจากการขับเคลื่อนประเทศด้วยภาคอุตสาหกรรมไปเป็นการขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี

Automatic Identification หรือ Auto ID นวัตกรรมที่ถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องมือด้านการบ่งชี้อัตโนมัติ การป้อนข้อมูลโดยตรงเข้าในระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อเพิ่มความรวดเร็ว ความถูกต้องของข้อมูล และช่วยลดภาระความซับซ้อนของการปฏิบัติงานที่เกิดจากมนุษย์ เทคโนโลยีทั่วไปของ Automatic Identification ที่ถูกนำมาใช้งานกันอย่างแพร่หลาย เช่น QR code, Barcode, RFID, OCR, Smart Card และ Voice Recognition เป็นต้น

งานวิจัยหัวข้อ “การเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยันความเป็นผู้ประกอบการภายใน (Intrapreneurship) ของธุรกิจเทคโนโลยีบ่งชี้อัตโนมัติ เพื่อรองรับความพลิกผันของเทคโนโลยี ในประเทศไทย” ความสมบูรณ์ของเนื้อหาได้ถูกกลั่นกรองออกมาจากประสบการณ์โดยตรงในสายงานแวดวง Automatic Identification นานกว่า 24 ปี โดยปัจจุบันว่าที่ร้อยตรี ดร.คมกริช ไพฑูรย์ ดำรงตำแหน่ง Country Manager and Board of Director บริษัท ฮันนี่เวลล์ ซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นบริษัทผู้ผลิตและจัดจำหน่ายอุปกรณ์คอมพิวเตอร์แบบมือถือ เครื่องพิมพ์ฉลาก อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล และซอฟต์แวร์โซลูชัน เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพให้กับผู้ปฏิบัติงานในธุรกิจผู้ค้าปลีก ตัวแทนจำหน่าย ภาคอุตสาหกรรม และภาคส่วนอื่นๆ ที่ต้องการยกระดับประสิทธิภาพการดำเนินงาน

โซลูชันใดเหมาะกับ Automatic Identification

  • Distribution Center
  • Warehouse
  • Manufacturing
  • Factory
  • Transportation / Logistics
  • Retail Shop
  • Wholesale
  • Hospital
  • Frozen product production

ในงานวิจัยฉบับนี้ เป็นส่วนหนึ่งของดุษฎีนิพนธ์ระดับปริญญาเอก สาขาวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยสยาม ของว่าที่ร้อยตรี ดร.คมกริช ไพฑูรย์ โดยมี อาจารย์ ดร.กานต์จิรา ลิมศิริธง เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาดุษฎีนิพนธ์ ซึ่งมีบทบาทที่สำคัญในการประเมินคุณภาพเนื้อหาของงานวิจัยออกมาอย่างสมบูรณ์ และมีประโยชน์ต่อผู้ประกอบการในธุรกิจเทคโนโลยีบ่งชี้อัตโนมัติในประเทศไทย หรือผู้ประกอบการอื่นๆ ในการเตรียมความพร้อมสร้างความเข้มแข็งจากภายใน (Intrapreneurship) โดยการปรับองค์กรในด้านต่างๆ เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล และสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กรต่อไป

ประวัติผู้ร่วมทำงานวิจัย

ว่าที่ร้อยตรี ดร.คมกริช ไพฑูรย์

ประวัติด้านการศึกษา

  • ปริญญาเอก ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยสยาม
  • ปริญญาโท บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขากฎหมายธุรกิจ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
  • ปริญญาตรี ศิลปะศาสตร์บัณฑิต สาขารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
  • ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง สาขาอิเลกทรอนิกส์ โรงเรียนวิศวกรรมแหลมฉบัง
  • Diploma of Engineering (Computer Systems) Swinburne University of Technology 

ประสบการณ์การทำงาน

  • ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง Country Manager and Board of Director บริษัท ฮันนี่เวลล์ ซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด
  • ผู้จัดการฝ่ายขายอาวุโส บริษัท ซีบรา เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) จำกัด
  • ผู้จัดการฝ่ายขายอาวุโส บริษัท โมโตโรล่า (ประเทศไทย) จำกัด
  • ผู้จัดการฝ่ายขาย บริษัท คอมซิส คอร์ปอเรชั่น จำกัด
  • หัวหน้าส่วนฝ่ายขาย บริษัท เทคโนโลยี ซัพพลาย จำกัด

อาจารย์ ดร.กานต์จิรา ลิมศิริธง

ประวัติด้านการศึกษา

  • ปริญญาเอก ดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล รัฐนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย
  • ปริญญาโท สาขาวิชาการจัดการ (ทรัพยากรบุคคล) มหาวิทยาลัยมหิดล (โครงการร่วมระหว่างบริษัท Hay Consultant จากสหรัฐอเมริกาและมหาวิทยาลัยมหิดล)
  • ปริญญาตรีศิลปศาสตรบัณฑิต (ภาคภาษาอังกฤษ) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

ประสบการณ์การทำงาน

  • ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง อาจารย์ ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยสยาม
  • ผู้อำนวยการหลักสูตรและอาจารย์ บริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาการจัดการธุรกิจการค้าสมัยใหม่ (หลักสูตรนานาชาติ) คณะธุรกิจ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์
  • ผู้ช่วยคณบดีและอาจารย์ บัณฑิตวิทยาลัยธุรกิจมหาวิทยาลัยสยาม

ถ่ายทอดประสบการณ์จริงผ่านการนำเสนองานวิจัย

อาจารย์ ดร.กานต์จิรา กล่าวสรุปถึงวัตถุประสงค์การร่วมทำงานวิจัยในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษาฉบับนี้ว่า

“เราโชคดีที่ได้ลูกศิษย์ที่อยู่ในสายงานด้านนี้อยู่แล้ว ซึ่งนับได้ว่าคุณคมกริช เป็นท่านหนึ่งที่เป็นผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ใน Automatic Identification มาอย่างยาวนาน ซึ่งโจทย์แรกในการคิดหัวข้อวิจัยของลูกศิษย์ท่านนี้จำเป็นต้องมีความเกี่ยวข้องกับความเชี่ยวชาญเฉพาะตัว ทั้งเราทั้งสองมีความคาดหวังว่างานวิจัยควรจะเป็นประโยชน์ในวงกว้างและสามารถช่วยพัฒนาประเทศชาติได้ ดังนั้นจึงมาสรุปลงที่หัวข้อนี้ ซึ่งมีการบูรณาการองค์ความรู้ ศาสตร์ทางการจัดการต่างๆ นำมาสังเคราะห์และประเมินปัจจัยทางการจัดการที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาผู้ประกอบการภายในธุรกิจเทคโนโลยีบ่งชี้อัตโนมัติ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่ายังไม่มีนักวิชาการที่คิดรูปแบบหรือโมเดลผู้ประกอบการเฉพาะทางของธุรกิจเทคโนโลยีบ่งชี้อัตโนมัติของประเทศไทยมาก่อนเลย

ต้องกล่าวว่า คุณคมกริช ได้นำเสนอโมเดลหรือรูปแบบใหม่สำหรับด้านนี้ได้เหมาะสมกับผู้ประกอบการในธุรกิจนี้ซึ่งตรงกับยุคสมัยนี้พอดี อย่างที่ทราบว่า โควิด-19 ที่ผ่านมามีผลต่อรูปแบบการใช้ชีวิตและธุรกิจครอบคุลมในทุกประเภท ดังนั้นจะเป็นเรื่องดีถ้ามีบุคคลหรือองค์กรนำเสนอรูปแบบการพัฒนาผู้ประกอบการภายใน (Intrapreneurship) ที่สามารถนำมาต่อยอดได้ถูกที่ ถูกเวลา เพื่อนำธุรกิจสู่การปรับตัวได้อย่างมีทิศทาง จะดีกว่าไหมถ้าเราไม่ต้องต่างคนต่างคิดและใช้ความเข้าใจไปกันเองว่าปัจจัยต่างๆ มีผลต่อการพัฒนาให้ผู้ประกอบการมีแนวคิดในการจัดการตามตำราที่มีอยู่แล้วไปปรับใช้ โดยรายละเอียดเชิงลึกในเนื้อหางานวิจัยจะเล่ารายละเอียดโดยคุณคมกริช ได้ดีที่สุด”

นอกจากนี้ อาจารย์ ดร.กานต์จิรา ยังได้เผยถึงมุมมองส่วนตัวเกี่ยวกับการเติบโตของเทคโนโลยีในภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทยปัจจุบันและยังมีแนวคิดว่า

Image by Honeywell AIDC

“Automatic Identification Technology จะเข้ามามีบทบาทที่สำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนการดำเนินการในอุตสาหกรรมโดยรวมของไทย สังเกตได้จากการนำ QR Code มาใช้ประโยชน์ในเรื่องการสแกนโอนจ่ายค่าสาธารณูปโภคต่างๆ ซึ่งเป็นธุรกรรมทางการเงินในรูปแบบออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชันบนอุปกรณ์สมาร์ทโฟนเทรนด์ที่กำลังเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายโดยได้รับอิทธิพลมาจากการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดอย่างยั่งยืนในช่วงวิกฤติการแพร่ระบาดเชื้อไวรัส Covid-19 ถือว่าเป็นตัวเปลี่ยนเกมส์ให้กำเนิดเทคโนโลยีใหม่ๆ เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก หลายธุรกิจทั่วโลกมีการปรับตัวเพื่อรองรับการหยุดชะงักต่อการดำเนินงานในส่วนต่างๆ ของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะภาคส่วนอุตสาหกรรมผลิตของไทย ที่ยังคงให้ความสำคัญกับบทบาทของเทคโนโลยี Automatic Identification อาทิ ธุรกิจอาหาร การขนส่ง ธุรกิจค้าปลีก ธนาคาร ธุรกิจบริการต่างๆ หรือแม้กระทั่งร้านสะดวกซื้อระดับท้องถิ่น เพื่อความถูกต้องแม่นยำของข้อมูล ลดข้อมูลและขั้นตอนที่ผิดพลาดลง ลดกระบวนการที่ซ้ำซ้อนออกไป และลดชั่วโมงการทำงานของมนุษย์ลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ สิ่งที่เคยใช้อยู่และยังต้องใช้ต่อ ก็คือ การประยุกต์ใช้บาร์โค้ดในกระบวนการบริหารจัดการสต็อกสินค้าตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนปลายน้ำสู่มือผู้บริโภค”

เทรนด์เทคโนโลยี Automatic Identification ที่น่าจับตามอง

สำหรับเทรนด์ด้านเทคโนโลยีในปัจจุบันมีสิ่งใหม่ๆ ออกมาเพื่อรองรับการปรับตัวตามวิถีการดำเนินชีวิตรูปแบบใหม่ เพื่อความคล่องตัวเป็นหลักสำคัญ แน่นอนว่าเทคโนโลยี Automatic Identification เป็นเทรนด์ที่รู้มาก่อนกาลที่ถูกออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์ความคล่องตัวในการปฏิบัติงานในทุกอุตสาหกรรมอยู่แล้ว การก้าวเข้าสู่ยุค Digital Transformation ในปี 2023 จะมองกันที่ความยั่งยืนเป็นแนวคิดที่สำคัญที่สุด

Image Credit : scmr/honeywell

อาจารย์ขอพูดในฐานะผู้ใช้งานเทคโนโลยีแบบคนธรรมดาทั่วไป จากพฤติกรรมการใช้งานเทคโนโลยีและข่าวสารผ่านช่องทางดิจิทัลต่างๆ ถ้าเราดูข่าวช่วงนี้จะเจอบ่อยคงเป็นเรื่องความปลอดภัยในการใช้เทคโนโลยี การโดนแฮกข้อมูลบัญชีการเงินเพื่อหวังโจรกรรมเงิน โดยส่วนที่กระทบมากที่สุดคือของภาคประชาชนผู้บริโภค แต่สำหรับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม เป้าหมายของการโจรกรรม คือ ข้อมูลที่สำคัญทางธุรกิจที่มีมูลค่าสูงมาก ปัจจุบันเทคโนโลยีด้าน Cybersecurity มีการพัฒนาให้รู้เท่าทันภัยปัจจุบันให้สอดรับกับยุคดิจิทัลมากขึ้น เพื่อการเปลี่ยนผ่านอย่างยั่งยืน

  • เทรนด์ด้าน Automatic Identification Technology ในปีนี้ยังคงมีความโดดเด่นในทุกอุตสาหกรรม และในอนาคต 3-5 ปีข้างหน้า เทรนด์นี้ก็ยังคงมีบทบาทที่สำคัญในระบบนิเวศ Supply Chain ตั้งแต่ต้นน้ำกลางน้ำไปจนถึงปลายน้ำ เพราะ Automatic Identification Technology ได้กลายเป็นมาตรฐานระดับสากลที่ทั่วโลกให้การยอมรับไปแล้ว ในทางกลับกันอุตสาหกรรมใดที่ยังไม่มีการปรับใช้ จะต้องเร่งมองหาเพื่อเพิ่มศักยภาพให้ธุรกิจสามารถแข่งขันได้สู่ตลาดระดับโลก อาจารย์ยังมองว่าเทคโนโลยีนี้จะยังไม่ตกเทรนด์ในช่วงทศวรรษต่อไปจากนี้แน่นอน
  • เทรนด์เรื่อง Data Security และ ความเป็นส่วนตัวรายบุคคล (Privacy) เป็นสิ่งที่ยุคสมัยนี้ควรตระหนักรู้อย่างยิ่ง โดยเฉพาะการปรับใช้เทคโนโลยี Automatic Identification เข้ามาอำนวยความสะดวกในภาคการเงิน โดยเฉพาะสแกน QR Code เพื่อทำธุรกรรมการเงิน การให้ความรู้เพื่อรู้ให้เท่าทันจะสามารถทำให้ไม่เสียรู้กลโกงของผู้ไม่หวังดีซึ่งไม่ใช่เทคโนโลยีที่ไหน แต่เป็นมนุษย์หลอกมนุษย์ เทคโนโลยีที่ล้ำสมัยเป็นเพียงแค่เครื่องมือ อาจารย์มองว่า การสร้างความตระหนักรู้เป็นสิ่งแรกๆ ที่ควรทำ
  • เทรนด์ด้านปัญญาประดิษฐ์ หรือที่เรียกว่า AI (Artificial Intelligence) หรือ Machine Learning เทคโนโลยีที่กำลังเป็นกระแสในวงกว้างของสังคมปัจจุบัน โดยเฉพาะภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เริ่มมีการปรับใช้งาน AI ให้มีส่วนร่วมในกระบวนการต่างๆ ของการดำเนินธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ChatGPT ได้กลายเป็นตัวขับเคลื่อนที่น่าจับตามองมากที่สุด ณ ตอนนี้ เห็นได้จากข่าวการประกาศเปิดตัวผลิตภัณฑ์ระดับองค์กรของยักษ์ใหญ่ด้านผู้พัฒนาด้านไอทีทั้ง Microsoft และ Google ต่างชูฟีเจอร์ Generative AI เป็นจุดขาย และเชื่อว่าในอนาคตเราอาจจะได้เห็นการพัฒนาต่อยอดของ AI ที่ล้ำสมัยมากขึ้นอย่างแน่นอน
  • เทรนด์ Autonomous Driving หรือยานพาหนะที่ขับเคลื่อนโดยอัตโนมัติ หลายประเทศมีการใช้งานจริงแล้ว อาทิ Taxi driver-less ได้มีการทดสอบใช้งานจริงในซานฟรานซิสโกแล้ว รถแท็กซี่แบบไร้คนขับ 100% เป็นการปรับใช้ข้อมูลเชิงลึกของ AI เข้ามาช่วยวิเคราะห์และการตอบสนองคำสั่งจากมนุษย์ผ่านแอปพลิเคชันแพลตฟอร์ม อนาคตเราอาจจะได้เห็นการโต้ตอบผ่านเสียงแบบเต็มระบบเสมือนสมองมนุษย์สื่อสารระหว่างกัน นอกจากนี้ยังมี Tesla ที่มีการพัฒนาระบบ Autopilot และทางด้าน BMW มีการพัฒนามอเตอร์ไซต์บินได้ที่มีการเปิดตัวขายจริงแล้วในประเทศญี่ปุ่น ถึงแม้ว่าเทคโนโลยีดังกล่าวจะยังมีราคาที่ค่อนข้างสูง แต่นั่นเป็นเพียงแค่การกำหนดราคาในช่วงยุคเริ่มต้นของนวัตกรรมใหม่เท่านั้น ในอนาคตเมื่อตลาดเริ่มมีการแข่งขันที่สูงขึ้น จำนวนผู้ผลิตมากขึ้น คาดว่าราคาอาจจะไม่ไกลเกินเอื้อมสำหรับผู้บริโภคทุกระดับ
  • เทรนด์ 5G ปัจจุบันมีการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการสื่อสารไร้สายสำหรับภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการดำเนินงานให้มีกระบวนการที่ล้ำสมัย สามารถเร่งการแข่งขันให้ทัดเทียมกันได้ เทคโนโลยี 5G จะเป็นตัวแปรที่สำคัญที่สามารถช่วยเร่งความเร็วให้การส่งผ่านข้อมูลขนาดใหญ่ได้อย่างราบรื่นและมีความปลอดภัยของข้อมูลระดับสูง และมีความน่าเชื่อถือ อาจารย์มองว่า ภาคธุรกิจจะได้ประโชน์จากเทคโนโลยี 5G สูงมาก

สิ่งที่ผู้ประกอบการควรตระหนักรู้

องค์กรที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับ Automatic Identification Technology ควรมีความพร้อมเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคดิจิทัลอย่างไรบ้าง เป็นโจทย์ที่จะต้องนำมาปรับเป็นแผนการรับมือในระยะยาวอย่างไร คำถามนี้คุณคมกริช คือผู้ที่จะถ่ายทอดจากประสบการณ์กว่า 24 ปีในสายงานนี้ได้ดีที่สุด ปัจจุบันทำงานอยู่ในบริษัท ฮันนี่เวลล์ ซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายอุปกรณ์ด้าน Auto-ID และได้มีมีโอกาสได้พบเห็นกลุ่มลูกค้าทุกขนาดในระดับองค์กรมากที่สุด

“เทคโนโลยีบ่งชี้อัตโนมัติ ซึ่งประกอบไปด้วย Barcode, RFID, Smart Card, OCR และ Biometic ได้มีการใช้งานในระบบอุตสาหกรรมต่างๆ มานานหลายสิบปีมาแล้ว และได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีอยู่ตลอดเวลา เพื่อลดขั้นตอนในการทำงาน และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ให้มีความถูกต้องแม่นยำมากขึ้น ผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยีบ่งชี้อัตโนมัติ ในประเทศไทยเอง ซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า 100 ราย ต้องมีการปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทั้งในด้านพฤติกรรมของลูกค้า ที่มีความต้องการในการใช้ เทคโนโลยีที่มีความสะดวกขึ้น ใช้งานง่ายขึ้น และการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หรืออาจจะเกิดการพลิกผันของเทคโนโลยีบ่งชี้อัตโนมัติในอนาคตอันไกล้นี้ “

ว่าที่ร้อยตรี ดร.คมกริช กล่าวเพิ่มเติมว่า “จากการศึกษาวิจัยในหัวข้อ -รูปแบบการพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการภายใน (Intrapreneurship) ของผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยีบ่งชี้อัตโนมัติ เพื่อรองรอบความพลิกพันของเทคโนโลยีในประเทศไทย- นั้นพบว่า การสร้างความเป็นผู้ประกอบการภายใน (Intrapreneurship) หรือการสร้างความเป็นเจ้าขององค์กร หรือการสร้างพนักงานให้มีความเป็นเจ้าของขององค์กร์ นั้นจะประกอบด้วย องค์ประกอบหลักอยู่ 4 องค์ประกอบ ได้แก่ 1. ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ รวมถึงการพัฒนาทีมงาน 2. ด้านภาวะผู้นำ 3. ด้านวัฒนธรรม องค์การ และสุดท้าย 4. ด้านองค์การแห่งการเรียนรู้ จะสามารถพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยีบ่งอัตโนมัติ ในประเทศไทย ให้มีความสามารถในการแข่งขัน กับผู้บริโภค และเทคโนโลยีการเปลี่ยนแปลง ได้อย่างยั่งยืน เนื่องจากการสร้างความเข้มแข็งขององค์กรจากภายในนั้น จะเป็นเกราะป้องกัน และเป็นอาวุธที่สำคัญในการดำเนินธุรกิจ และมีความมั่นคงอยู่ทุกสภาพแวดล้อมได้ ที่มีการเปลี่ยนแปลอยู่ตลอดได้”

อาจารย์ ดร.กานต์จิรา เสริมเกี่ยวกับองค์กรที่ใช้เทคโนโลยีด้าน Automatic Identification ควรตระหนักรู้เพื่อการรองรับความพลิกผันของเทคโนโลยี ในประเทศไทยว่า “เทคโนโลยีมอบความสะดวกสบาย การสื่อสารที่รวดเร็วมีประสิทธิภาพก็จริงแต่ในการพัฒนาสิ่งเหล่านี้ให้ดีขึ้นก็ต้องพัฒนาด้านความปลอดภัยในการใช้งานด้วย โดยเฉพาะประเด็นข้อมูลส่วนบุคคลและการใช้ข้อมูลและการให้ข้อมูลที่ถูกต้องต่างๆ อาจารย์อาจจะพุ่งไปประเด็นหลักๆ เลย คือ ควรตระหนักรู้เรื่อง Cyber and Data Security เพื่อรู้เท่าทันก่อนจะสูญเสีย”

สอดรับนโยบายอุตสาหกรรม 4.0 ในแง่ใดบ้าง

Image Credit : timesofmalta

อุตสาหกรรม 4.0 เป็นอุตสาหกรรมที่เน้นการใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตหรือ iOT รวมถึงระบบดิจิทัลต่างๆ เข้ามาใช้งาน มีการใช้หุ่นยนต์เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวก ลดขั้นตอนการทำงาน มีระบบ AI เข้ามาช่วยเสริมประสิทธิภาพ มีเครื่องจักรกลทันสมัยเข้ามาสู่ระบบงาน ทำงานได้ถูกต้องและมีความละเอียดหลากหลายมากขึ้น โดยใช้คนน้อยลง

เทคโนโลยีบ่งชี้อัตโนมัติที่มีใช้อยู่ในปัจจุบัน สามารถพัฒนา Solutions และประยุกต์การใช้งาน ให้มีความสามารถ ใช้งานในอุตสาหกรรม 4.0 ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากมีการรองรับ IoT การเชื่อมต่ออุปกรณ์ในระบบเทคโนโลยีบ่งชี้อัตโนมัตินั้น สามารถเชื่อมต่อผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตได้ โดยเฉพาะการจัดการคลังสินค้ารูปแบบใหม่ ที่ต้องการความเป็น Realtime และอัตโนมัติ มากขึ้น เช่นการจัดการคลังสินค้าอัจฉริยะ หรือ smart warehouse ก็ยังมีความจำเป็นต้องใช้ อุปกรณ์ระบบบาร์โค้ด หรือ RIFD มาช่วยเพิ่มศักยภาพ ให้ระบบมีความถูกต้องแม่นยำ มากขึ้น การเปลี่ยนแปลงไปเป็นอุตสาหกรรม 4.0 อาจจะมีผลกระทบบ้าง ต่อผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยีบ่งชี้อัตโนมัติ ที่ไม่มีการปรับตัว จึงจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์ในด้านต่างๆ การเตรียมความพร้อมในด้านบุคลลากร การแสวงหาความรู้ใหม่ solutions ใหม่ที่รองรับการทำงานในอุตสาหกรรม 4.0 ได้ ” ว่าที่ร้อยตรี ดร.คมกริช กล่าว 

Startup ผู้ประกอบการรายใหม่

คุณคมกริช ให้ข้อมูลเสริมว่า ถ้ามองด้านสถิติตัวเลข องค์กรที่จดทะเบียนประกอบธุรกิจด้าน Automatic Identification Technology ในประเทศไทย มีจำนวนไม่น้อย “จากข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (2566) พบว่ามีจำนวน ธุรกิจที่จดทะเบียนเกี่ยวกับเทคโนโลยีบ่งชี้อัตโนมัติ มีจำนวน 201 ราย ส่วนใหญ่มากกว่า ร้อยละ 90 จดทะเบียนอยู่ในกรุงเทพมหาคร ศูนย์กลางเศรษฐกิจของประเทศ และมีกระจายไปตามภูมิภาคต่างๆ ไม่มากนัก”

กลุ่ม Startup ถือกำเนิดขึ้นหลากหลายธุรกิจ แต่อย่างไรก็ตาม เรายังไม่สามารถจำแนกได้อย่างชัดเจนว่า Startup ใดจดทะเบียนการค้าเพื่อดำเนินธุรกิจด้าน Automatic Identification Technology ในประเทศไทยบ้าง เพราะการกำหนดวัตถุประสงค์ของการจดทะเบียนมักถูกครอบคลุมรวมเข้ากับ -อุปกรณ์ด้านคอมพิวเตอร์- ซึ่งเป็นการนิยามที่กว้างมาก

“ไม่มีข้อมูลในเชิงวิชาการ หรือข้อมูลอ้างอิง แต่จากข้อมูลที่พอจะประมาณการได้นั้น มีผู้ประกอบการรายย่อย เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะเป็นผู้ประกอบการที่ให้บริการ ติดตั้ง และซ่อมบำรุงอุปกรณ์เทคโนโลยีบ่งชี้อัตโนมัติ และมีการปิดตัวไปของรายย่อยบ้างตามสภาพเศรษฐกิจของแต่ละราย บางรายผันตัวไปทำธุรกิจอื่นๆ ประกอบกัน แต่รายใหญ่ที่มีการให้บริการแบบครบทั้ง Solutions ก็ยังคงอยู่ โดยคาดว่าจะมีผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นหรือลดลงมีหลายปัจจัย เช่นการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี นโยบายภาครัฐ สภาพความสามารถการแข่งขัน เป็นต้น” ว่าที่ร้อยตรี ดร.คมกริช กล่าว

บทบาทของ ChatGPT และ Automatic Identification

ChatGPT เป็นเทรนด์เทคโนโลยีด้านปัญญาประดิษฐ์ AI ที่กำลังถูกพูดถึงในวงกว้าง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิต (Manufacturing) เป็นหนึ่งในเป้าหมายที่จะนำ ChatGPT เข้ามามีบทบาทที่สำคัญเช่นกัน คาดว่า ChatGPT จะช่วยยกระดับด้วยการผสานการทำงานร่วมกัน Automatic Identification Technology ได้หรือไม่ อย่างไร

“เชื่อว่าถ้าพัฒนาได้สมบูรณ์ขึ้นกว่านี้และตระหนักเรื่องระบบความปลอดภัยต่างๆ ในการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ ถือได้ว่าเป็น Chat bot ตัวใหม่ที่มีความโดดเด่นและน่าสนใจมากๆ โดยส่วนตัวมองเห็นว่าเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ต่อธุรกิจที่ใช้ Automatic Identification เทคโนโลยีอยู่แล้ว อาจจะไม่ใช่แค่มีประโยชน์เฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตเท่านั้น ถ้าสามารถพัฒนา Chat bot เทคโนโลยีนี้ให้มีประสิทธิภาพ อาจเป็นเครื่องมือที่มีอิทธิพลต่อการปรับพฤติกรรมผู้บริโภคในอนาคต ไม่แน่เราอาจสั่ง Chat bot จ่ายบิลให้ด้วยระบบเสียงสั่งงานแทนการแตะบัตร smart card หรือ สแกน QR Code ในปัจจุบัน หรืออาจพัฒนา AI ของ ChatGPT โดยใส่ระบบป้องกันข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานแทนเราได้

โดยส่วนตัว อยากให้มองว่า คนสร้างเทคโนโลยีเพื่อมาใช้งานให้การใช้ชีวิตและการทำงานเราสะดวกและมีประสิทธิภาพ ดังนั้น ChatGPT ก็เป็นเครื่องมือทางเทคโนโลยีตัวหนึ่ง ถ้าเราพัฒนาให้มีความฉลาดใกล้เคียงการประมวลผลของสมองมนุษย์ได้ โจทย์นี้คงไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวเราแน่นอน เราไม่ควรเกิดความกลัวไปก่อนหรือปฏิเสธการใช้ AI หรือการนำมาปรับใช้กับเครื่องมือทางเทคโนโลยีเหล่านี้ด้วย”

ว่าที่ร้อยตรี ดร.คมกริช และ อาจารย์ ดร.กานต์จิรา มีมุมมองความคิดเห็นที่สอดคล้องกันเกี่ยวกับ ChatGPT เทคโนโลยี AI ปัญญาประดิษฐ์ที่กำลังเข้ามามีส่วนร่วมกับทุกอุตสาหกรรม และคาดว่าอนาคตจะผสานการทำงานร่วมกับอุปกรณ์หรือเครื่องจักรกลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น Automatic Identification ก็จะเป็นส่วนหนึ่งในบริบทนั้นๆ อย่างแน่น

อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยี Automatic Identification ในยุคดิจิทัลยังคงมีบทบาทที่สำคัญในการเชื่อมโยงซัพพลายเชนในอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อการเคลื่อนย้ายสินค้าหรือบริการ จากผู้จัดหาไปยังลูกค้าแบบครบวงจร ณ ปัจจุบัน องค์กรส่วนใหญ่มีการปรับตัวเพื่อเตรียมก้าวสู่ Digital Transformation โดยมุ่งเน้นไปที่การนำเทคโนโลยีในรูปแบบโซลูชันแพลตฟอร์มมากขึ้น มีการบริหารจัดการข้อมูลให้เป็นศูนย์รวมกลายเป็นโจทย์ที่ลงตัวที่สุดสำหรับรูปแบบการทำงานสมัยใหม่ เพราะฉะนั้น การนำเข้าข้อมูลจากภายนอกจะต้องมีความถูกต้อง แม่นยำ และรวดเร็วที่สุด เพื่อยกระดับความยั่งยืนให้ธุรกิจสามารถรองรับการแข่งขันที่ไม่หยุดนิ่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“เปลี่ยนอุปสรรคให้เป็นความท้าทาย โดยสร้างความเข้มแข็งจากภายในด้วย Intrapreneurship และเปิดรับเทคโนโลยีใหม่อย่างมีแนวคิด เพื่อนำไปสู่การพัฒนาธุรกิจให้แข็งแกร่ง สู่การเติบโตได้อย่างยั่งยืน” ว่าที่ร้อยตรี ดร.คมกริช กล่าวปิดท้าย

หากสนใจโซลูชัน Automatic Identification สามารถติดต่อเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

VST ECS ตัวแทนจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์แบรนด์ Honeywell (AIDC) ในประเทศไทย

อีเมล : [email protected] | [email protected]

โทร. : 0 2032 9999

About pawarit

Check Also

Pudu Robotics เปิดตัวหุ่นยนต์กึ่งมนุษย์ PUDU D7 โชว์ความสามารถที่ก้าวล้ำและวิสัยทัศน์เชิงกลยุทธ์

Pudu Robotics ผู้นำระดับโลกด้านหุ่นยนต์บริการ เปิดตัวนวัตกรรมล่าสุด PUDU D7 หุ่นยนต์กึ่งมนุษย์แบบอัจฉริยะรุ่นแรกของบริษัท และยังแสดงให้เห็นถึงนัยสำคัญของความก้าวหน้าตามภารกิจการพัฒนาวิธีการที่ล้ำสมัยเพื่อแก้ปัญหาการดำเนินงานของธุรกิจต่างๆ ที่ต้องเผชิญอยู่ทั่วโลก โดยคาดว่าจะเริ่มจำหน่าย PUDU D7 ในทางการค้าได้อย่างเต็มรูปแบบในปี พ.ศ. 2568 …

ขอเชิญเข้าร่วมการแข่งขันกอล์ฟ “Tech Golf Tournament 2024” ณ สนามเมืองแก้วกอล์ฟ บางนา

TechTalkThai Group ต้องการเปิดโอกาสในการพบปะกันระหว่างผู้บริหารระดับสูงจากภาคธุรกิจองค์กรชั้นนำ นักธุรกิจจากหลากหลายวงการ และเหล่าผู้บริหารจากธุรกิจผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมสำหรับธุรกิจ จึงได้ทำการจัดงาน Tech Golf Tournament 2024 การแข่งขันกอล์ฟสายธุรกิจที่มุ่งเน้นทั้งความสนุกสนานและความจริงจังในการแข่งขันกีฬา ในวันศุกร์ ที่ 15 พฤศจิกายน …