เมื่อประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนกลายเป็นวาระสำคัญของผู้คนทั่วโลก Circular Economy ที่เคยเป็นได้เพียงแค่แนวคิดที่ธุรกิจรู้จักแต่ไม่ได้นำมาปฏิบัติจริงนั้น ก็ได้ถูกหยิบยกมาพูดถึงกันอย่างจริงจังอีกครั้ง ในฐานะของแนวคิดที่จะช่วยพลิกธุรกิจให้ตอบโจทย์ ESG ได้อย่างเต็มตัว
ในบทความนี้เราจะพาทุกท่านไปรู้จักกับ Circular Economy และ 4 ปัจจัยที่ทำให้แนวคิดนี้เกิดขึ้นจริงได้ในปัจจุบันกันครับ
Circular Economy คืออะไร?
Circular Economy หรือที่รู้จักกันในชื่อภาษาไทยว่า เศรษฐกิจหมุนเวียน คือแนวคิดในการผลิตและบริโภคโดยใช้วัตถุดิบหรือทรัพยากรเดิมซ้ำให้มากที่สุด เพื่อให้วัตถุดิบหรือทรัพยากรนั้นๆ เกิดความคุ้มค่าสูงสุด ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติใหม่ๆ ในการผลิตหรือการบริโภคให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ด้วยเหตุนี้ แนวคิดของ Circular Economy จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงจากภาพของอดีตจนถึงปัจจุบันที่มักเป็น Linear Economy หรือเศรษฐกิจแบบเส้นตรง ที่มีการนำทรัพยากรมาผลิตสินค้า และเมื่อมีการบริโภคสินค้านั้นๆ แล้วก็ทำการทิ้งสินค้านั้นๆ ไป เปลี่ยนไปสู่ภาพของอนาคตที่จะมีการส่งต่อสินค้านั้นๆ ให้ผู้อื่น, คืนสินค้าแก่ผู้ขายเมื่อเลิกใช้งาน, ใช้การเช่าแทนการซื้อเพื่อให้สินค้าสามารถเปลี่ยนมือได้ในภายหลัง, มีการนำสินค้ามาใช้ซ้ำ, มีการซ่อมแซมสินค้า, มีการนำสินค้าที่มีตำหนิกลับมาซ่อมบำรุงเพื่อนำไปขายใหม่ หรือมีการรีไซเคิลส่วนต่างๆ ของสินค้าให้มากที่สุดเพื่อนำกลับมาผลิตเป็นสินค้าใหม่ออกสู่ตลาด
แนวคิดในการนำวัตถุดิบหรือพลังงานกลับมาใช้ซ้ำนี้ถูกเสนอมาตั้งแต่ปี 1966 แล้ว แต่คำว่า Circular Economy นั้นเพิ่งจะปรากฎเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1988 และหลังจากนั้นก็ถูกพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดี Circular Economy เพิ่งจะเป็นจริงได้เมื่อไม่นานมานี้เท่านั้น เนื่องจากก่อนหน้านี้ต้นทุนของการปรับธุรกิจไปสู่โมเดลที่ตอบสนองต่อแนวคิดดังกล่าวนั้นยังค่อนข้างสูง และผู้บริโภคทั่วโลกเองก็ยังคงนิยมการซื้อหรือการเป็นเจ้าของสิ่งต่างๆ อย่างเต็มตัวอยู่
แต่เมื่อโลกเราเข้าสู่ยุค Digital มากขึ้น แนวคิดของการเช่าใช้หรือ Subscribe นั้นก็ได้กลายมาเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ทำให้ทุกคนได้เห็นประโยชน์และความคุ้มค่าของการไม่เป็นเจ้าของมากขึ้น ในขณะที่ต้นทุนในการนำวัตถุดิบหรือสินค้าต่างๆ กลับมาใช้ซ้ำเองก็เริ่มต่ำลง และได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐมากขึ้นไปด้วยในเวลาเดียวกัน ก็ทำให้ Circular Economy เริ่มกลับมาได้รับความสนใจและกลายเป็นจริงได้นั่นเอง
ตัวอย่างที่จะทำให้เห็นภาพของธุรกิจที่ดำเนินตามแนวคิด Circular Economy ได้ชัดเจนนั้น ก็คือการเช่าใช้อุปกรณ์ IT ภายในสำนักงาน ที่ธุรกิจไม่ต้องเป็นเจ้าของเอง แต่เช่าใช้ตามสัญญาที่กำหนดจากผู้ให้บริการอุปกรณ์ IT และเมื่อหมดอายุสัญญา ธุรกิจก็สามารถเช่าใช้อุปกรณ์รุ่นใหม่ๆ แทนได้ ในขณะที่ผู้ให้บริการอุปกรณ์ IT ก็อาจนำอุปกรณ์ชุดเดิมไปอัปเกรด เพื่อนำไปปล่อยเช่าต่อ หรือถอดชิ้นส่วนต่างๆ ไปรีไซเคิล ก่อนจะนำมาผลิตเป็นอุปกรณ์ IT รุ่นใหม่เพื่อนำมาให้บริการเช่าใช้ต่อไป เป็นต้น ซึ่งแนวคิดเดียวกันนี้ก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้งานได้ในอุตสาหกรรมที่หลากหลาย
อย่างไรก็ดี การก้าวสู่การทำ Circular Economy นี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะธุรกิจนั้นจะต้องคิดใหม่ทำใหม่ตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อรองรับให้การใช้งานมีความทนทานสูงสุด และยังสามารถนำมาใช้ซ้ำหรือแยกชิ้นส่วนได้ง่ายในอนาคต ในขณะที่การจัดหาทรัพยากรหรือวัตถุดิบก็ต้องคำนึงถึงการใช้ซ้ำให้มากที่สุด ส่วนการผลิตเองก็ต้องลดการใช้ทรัพยากรภายนอกให้เหลือน้อยที่สุด
โจทย์ที่ยากยิ่งไปกว่านั้นก็คือเรื่องของการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของธุรกิจเพื่อให้สอดรับต่อ Circular Economy ให้ได้ เปลี่ยนจากการขายขาดมาสู่การเช่าใช้หรือการแบ่งปันทรัพยากรระหว่างผู้ใช้งาน รวมถึงการเพิ่มบริการหลังการขายเพื่อยืดอายุการใช้งานของสินค้าแต่ละชิ้นให้นานที่สุด อีกทั้งยังต้องเพิ่มกระบวนการและต้นทุนในการนำสินค้ากลับมาใช้ซ้ำในอนาคตอีกด้วย
4 ปัจจัยที่ทำให้ Circular Economy เป็นจริงได้ในปัจจุบัน
ถึงแม้ทุกคนจะรู้ว่าเรื่องของสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นเรื่องสำคัญ แต่ปัจจัยขับเคลื่อนหลักที่ทำให้ Circular Economy ได้รับความสำคัญและเป็นจริงขึ้นมาได้นั้นก็เกิดจากแรงขับเคลื่อนและความพร้อมในหลายแง่มุม ได้แก่
1. การขาดแคลนและความผันผวนของทรัพยากร ทำให้ต้นทุนการเข้าถึงทรัพยากรสูงขึ้น
เมื่อการบริโภคแบบใช้แล้วทิ้งในอดีตนั้น ทำให้ทรัพยากรบนโลกร่อยหรอลงไปทุกวัน ทรัพยากรธรรมชาติบางชนิดจึงเริ่มขาดแคลนและเข้าถึงได้ยากมากขึ้น ส่งผลให้ราคาของวัตถุดิบบางกลุ่มสูงขึ้น และทำนายได้ยากขึ้นว่าในอนาคตจะมีวัตถุดิบนั้นๆ ให้ใช้ในการผลิตหรือไม่
ด้วยเหตุนี้ ธุรกิจหลายแห่งจึงต้องเริ่มหันมาบริหารความเสี่ยงจากการขาดแคลนทรัพยากร และ Circular Economy ที่จะทำให้ทรัพยากรที่เคยใช้ในการผลิตซึ่งถูกบริโภคเรียบร้อยแล้ว กลับมาอยู่ในมือของผู้ผลิตได้อีกครั้ง และนำไปเข้ากระบวนการเพื่อนำมาผลิตใหม่ กลายเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยรับมือกับความเสี่ยงเหล่านี้ได้ดี
2. หุ่นยนต์และ AI เข้ามาช่วยให้ต้นทุนการรีไซเคิลต่ำลง
ก่อนหน้านี้การรีไซเคิลถือเป็นกระบวนการที่มีต้นทุนสูงมาก เพราะนอกจากการแยกขยะที่จะต้องใช้แรงงานจำนวนมากและเกิดความเสี่ยงกับพนักงานแล้ว การแยกชิ้นส่วนเพื่อแบ่งกลุ่มของวัตถุดิบเองก็เป็นขั้นตอนที่เสียเวลาและยังขาดความแม่นยำอีกด้วย
เทคโนโลยีหุ่นยนต์ที่ผสมผสานเข้ากับ AI จะกลายเป็นอีกกำลังสำคัญที่ทำให้การรีไซเคิลนั้นต่ำลง ด้วยความสามารถในการจำแนกประเภทของขยะได้อย่างแม่นยำ และทำการแยกชิ้นส่วนของสินค้าที่ผ่านการบริโภคแล้วได้อย่างรวดเร็ว ก่อนจะนำมาจัดเรียง และทำให้นำวัตถุดิบแต่ละส่วนไปใช้ซ้ำหรือนำไปรีไซเคิลอย่างเหมาะสมได้โดยอัตโนมัติ
3. แนวคิดการบริโภคโดยการเช่าใช้บริการแทนการซื้อเพื่อเป็นเจ้าของกำลังได้รับความนิยม
เมื่อผู้บริโภคทั่วโลกกำลังมุ่งสู่การเช่าใช้บริการแทนการซื้อ ก็ถือเป็นโอกาสดีที่ผู้ผลิตจะได้ผันตัวสู่การกลายเป็นผู้ให้บริการ และสร้างโมเดลธุรกิจที่ผู้บริโภคจะมีโอกาสในการนำสินค้าที่ใช้แล้วมาคืนสู่มือผู้ผลิต ทำให้ผู้ผลิตมีต้นทุนในส่วนนี้ที่ต่ำลงเป็นอย่างมาก และยังสามารถบริหารจัดการกับสินค้าที่ใช้แล้วนี้ได้อย่างเหมาะสม ด้วยการออกแบบสินค้าและกระบวนการให้รองรับ Circular Economy ครบทั้งวงจรตั้งแต่แรก
4. Predictive Maintenance ช่วยลดค่าใช้จ่ายได้อย่างมีนัยยะ
ด้วยการใช้ Internet of Things (IoT) Sensor ร่วมกับ AI การตรวจสอบติดตามสถานะของสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่ให้ผู้ใช้งานเช่าใช้นั้นก็สามารถทำได้อย่างต่อเนื่อง และสามารถตรวจพบความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาได้ล่วงหน้า ทำให้เกิดเป็นส่วนหนึ่งของวงจร Circular Economy ที่ธุรกิจจะสามารถเข้าไปทำการซ่อมบำรุงแก้ไขให้กับสินค้าหรือผลิตภัณฑ์นั้นๆ ล่วงหน้าก่อนที่จะเกิดความเสียหายขึ้นจริง สามารถลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับอุปกรณ์และธุรกิจได้ อีกทั้งยังลดค่าใช้จ่ายและลดทรัพยากรที่ต้องใช้ในการซ่อมบำรุงลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อ้างอิง:
- https://en.wikipedia.org/wiki/Circular_economy
- https://www.sap.com/insights/viewpoints/the-circular-economy-goes-mainstream.html
- https://www.scg.com/sustainability/circular-economy/scg-circular-way/
- https://www.bot.or.th/Thai/ResearchAndPublications/articles/Pages/Article_30Jul2019.aspx
- https://www.egat.co.th/home/%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%81-circular-economy-%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%96%E0%B8%AD%E0%B8%B0/