BPP เผยรายได้ไตรมาส 3 ปี 2567 มั่นคง เดินหน้าผลิตพลังงานอย่างยั่งยืน พร้อมวางแผนกลยุทธ์ถึงปี 2030

บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP ผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าคุณภาพระดับสากล เผยผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2567 มีรายได้รวมจำนวน 1,134 ล้านบาท และมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าใช้จ่ายตัดจ่าย (EBITDA) รวม 2,266 ล้านบาท กำไรสุทธิลดลง 965 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 46 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน  ปัจจัยหลักเกิดจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทที่แข็งค่า และสภาพอากาศช่วงเวลาที่ผ่านมาในสหรัฐอเมริกาไม่เกิดคลื่นความร้อนรุนแรงเหมือนในช่วงเดียวกันของปีก่อน  จึงส่งผลต่อความต้องการไฟฟ้าและราคา ทำให้ปริมาณการขายไฟและราคาปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ยังคงเน้นสร้างกระแสเงินสดที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง พร้อมรักษาอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนผู้ถือหุ้น (D/E) ให้อยู่ในระดับต่ำ

นายอิศรา นิโรภาส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP กล่าวว่า แม้ในไตรมาส 3 BPP จะเผชิญความท้าทายจากการแข็งค่าของเงินสกุลบาทต่อเงินสกุลเหรียญสหรัฐ และความต้องการไฟฟ้าที่ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนอันเนื่องมาจากสภาพอากาศ โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนของ BPP ยังคงมีส่วนสำคัญในการสร้างสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง ด้วยเสถียรภาพในการผลิตและจ่ายไฟฟ้าของทั้งโรงไฟฟ้าบีแอลซีพี (BLCP) ในไทย โรงไฟฟ้าเอชพีซี (HPC) ใน สปป.ลาว โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม (CHPs) ในจีน และโรงไฟฟ้าแฝด Temple l และ Temple ll ในสหรัฐอเมริกา ขณะที่บริษัทฯ เดินหน้าสร้างมูลค่าจากสินทรัพย์ที่มีอยู่ ขยายกำลังผลิตไฟฟ้าที่มีคุณภาพ และลดการปล่อย CO2 ควบคู่ไปกับการเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างยั่งยืน”

ความคืบหน้าที่สำคัญในไตรมาสที่ผ่านมา ประกอบด้วย

  • โรงไฟฟ้าบีแอลซีพี (BLCP) ในไทย และโรงไฟฟ้าเอชพีซี (HPC) ใน สปป.ลาว สามารถรักษาค่าความพร้อมจ่ายไฟ (Equivalent Availability Factor: EAF) ในระดับสูง ที่ร้อยละ 99 และร้อยละ 93 ตามลำดับ
  • โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม (CHPs) ในจีนทั้ง 3 แห่ง มีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นจากต้นทุนถ่านหินที่ลดลง และยังมีรายได้จำนวน 7.5 ล้านหยวน จากการขายสิทธิในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มก๊าซเรือนกระจก (Carbon Emission Allowances – CEA) ปริมาณประมาณ 80,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นผลมาจากโรงไฟฟ้าดังกล่าวสามารถบริหารจัดการและควบคุมการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดีกว่าเกณฑ์มาตรฐาน และมีการศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้เชื้อเพลิงชีวมวลร่วมที่โรงไฟฟ้าทั้ง 3 แห่งนี้ เพื่อลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มเติมด้วย
  • บริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด ซึ่ง BPP ถือหุ้นร้อยละ 50 เข้าลงทุนในบริษัทแอมป์ เจแปน (Amp Japan) ผู้พัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนตั้งแต่ระยะเริ่มต้นจนถึงการนำออกสู่ตลาดชั้นนำในประเทศญี่ปุ่น ด้วยงบลงทุน 35 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม 800 เมกะวัตต์ สู่เป้าหมายกำลังผลิตรวม จำนวน 2 กิกะวัตต์ ภายใน 2030
  • BPP ได้รับรางวัล “Most Sustainable Energy Company – Thailand 2024” จาก Global Business Outlook Awards ตอกย้ำความมุ่งมั่นของ BPP ในฐานะผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าคุณภาพระดับสากลที่ยึดมั่นในการส่งมอบพลังงานที่ยั่งยืน

“บริษัทฯ ได้วางกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจโดยเน้นสร้างการเติบโตควบคู่ไปกับความยั่งยืน ภายใต้หลัก ESG เพื่อส่งมอบคุณค่าที่ยั่งยืนแก่ผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม โดยจะชี้แจงวิสัยทัศน์ของการเปลี่ยนผ่านธุรกิจผลิตพลังงานอย่างยั่งยืน สู่เป้าหมายในปี 2030 ตลอดจนการวิเคราะห์ทิศทางการเติบโตของธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าในกลุ่มประเทศยุทธศาสตร์ของ BPP ในเร็วๆ นี้” นายอิศรา กล่าวปิดท้าย

ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับธุรกิจ BPP ได้ที่ www.banpupower.com

About pawarit

Check Also

Lenôtre Culinary Arts School Thailand ภายใต้บริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) ปรับระบบบริหารจัดการธุรกิจให้ทันสมัย ด้วย SAP Business One โดย NDBS

แม้ว่าธุรกิจด้านอาหารจะเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ที่มีความต้องการอยู่ตลอดในฐานะหนึ่งในปัจจัยสี่ แต่การจะทำให้ธุรกิจมีความยั่งยืนมั่นคงได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการบริหารจัดการธุรกิจที่ดี

Honeywell ขายธุรกิจ “Personal Protective Equipment (PPE)” มูลค่า 1,325 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ฮันนี่เวลล์ ประกาศเมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2024 ว่า บริษัทได้ตกลงที่จะขายธุรกิจ Personal Protective Equipment (PPE) ให้กับ Protective Industrial Products, …