เทรนด์ Sustainability ในภาคธุรกิจอุตสาหกรรมได้กลายเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้โรงงานหลายแห่งและหลายแบรนด์ต้องหันมาพิจารณาเรื่อง Circular Economy หรือระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนกันมากขึ้น เพื่อให้รูปแบบการดำเนินธุรกิจสอดคล้องไปกับความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมและสังคม เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาดในปัจจุบันและอนาคตที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป
ในหนังสือ HBR’s 10 Must Reads ปี 2023 ได้มีบทความเรื่อง The Circular Business Model ซึ่งได้สรุปถึง 3 แนวทางที่ธุรกิจสามารถดำเนินกลยุทธ์เพื่อปรับธุรกิจของตนเองให้สอดคล้องกับแนวทางดังกลาวได้ ซึ่งทีมงาน FactoryTalkThai เห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านไม่น้อย จึงขอนำสรุปบทความพร้อมเสริมประเด็นต่างๆ เอาไว้ในบทความนี้กันดังนี้ครับ
3 กลยุทธ์สู่ Circularity
หากติดตามและสังเกตจากธุรกิจต่างๆ ทั่วโลก ปัจจุบันแนวทางของ Business Model ที่สอดคล้องกับ Circular Economy จะแบ่งด้วยกันออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
1. Retain Product Ownership (RPO) คงความเป็นเจ้าของของสินค้าไว้กับโรงงานหรือแบรนด์
แนวทางนี้ถือเป็นแนวทางที่มีความชัดเจนและเข้าใจง่าย โดยการเปลี่ยนจากการที่ลูกค้าหรือธุรกิจต่างๆ จะซื้อสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ของเราโดยสมบูรณ์ ไปสู่การเช่าซื้อ (Lease), การเช่า (Rent) หรือการเช่าพร้อมการให้บริการ (Managed Services) เพื่อให้ธุรกิจหรือแบรนด์ยังคงมีความเป็นเจ้าของในผลิตภัณฑ์นั้นๆ และยังมีการติดต่อสื่อสารในระหว่างที่ลูกค้าใช้งานผลิตภัณฑ์ เพื่อให้เกิดกระบวนการอื่นๆ ต่อยอดในขั้นถัดไปได้ ทั้งในแง่ของการสร้างคุณค่าใหม่ๆ หรือการนำผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้าใช้งานแล้วกลับมาใช้ซ้ำหรือรีไซเคิลก็ตาม
ข้อดีของกลยุทธ์นี้มีด้วยกันหลายประการ เช่น
- ลูกค้าได้เปลี่ยนแนวทางการลงทุนจาก CapEx มาสู่ OpEx สามารถลดการใช้จ่ายเป็นมูลค่าก้อนใหญ่ในแต่ละปี มาสู่การเช่าใช้งานตามจริงได้ ทำให้เกิดการตัดสินใจลงทุนได้ง่ายขึ้น และเลิกใช้งานอุปกรณ์ใดๆ ได้เมื่อถึงระยะเวลาที่ตกลงกัน เพื่อเปลี่ยนไปใช้ของรุ่นใหม่ที่มีประสิทธิภาพหรือความคุ้มค่าที่สูงกว่าได้อย่างต่อเนื่อง
- ธุรกิจสามารถปรับการดำเนินงานไปสู่รูปแบบ Servitization เปลี่ยนจากการขายสินค้าใดๆ ไปสู่ธุรกิจบริการได้ ซึ่งกำลังเป็นอีกกระแสที่กำลังมาแรงในวงการอุตสาหกรรม และสร้างคุณค่าหรือผลกำไรมากขึ้นให้กับธุรกิจได้
- ธุรกิจสามารถนำทรัพยากรหรือวัตถุดิบที่ลูกค้าหมดสัญญาเช่าใช้หรือให้บริการแล้ว กลับมาซ่อมบำรุงก่อนนำไปให้บริการกับลูกค้ารายอื่น หรือรีไซเคิลเพื่อนำไปผลิตสินค้าใหม่ออกสู่ตลาดได้
- ธุรกิจมีโอกาสได้มีปฏิสัมพันธ์และติดตามการใช้งานผลิตภัณฑ์โดยลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีโอกาสได้รับ Feedback ใหม่ๆ ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือการนำเสนอบริการเสริมอื่นๆ เพิ่มเติมในอนาคต รวมถึงนำเสนอโปรโมชั่นใหม่ๆ เพื่อให้ลูกค้าได้พิจารณาผลิตภัณฑ์หรือบริการของธุรกิจต่อเนื่องในระยะยาว
ธุรกิจที่ต้องการใช้กลยุทธ์นี้ อาจต้องมีการลงทุนเพิ่มเติมด้านบริการหลังการขายที่ดีและทั่วถึงครอบคลุมมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ลูกค้าเห็นถึงคุณค่าที่เพิ่มเติมอย่างชัดเจนเมื่อเปรียบเทียบความคุ้มค่าระหว่างการเช่าใช้งานหรือใช้บริการโดยไม่ได้เป็นเจ้าของ เทียบกับการซื้อผลิตภัณฑ์มาใช้งานเอง
กรณีที่เหมาะสมกับกลยุทธ์นี้ ได้แก่
- กรณีที่สินค้าต้องมีบริการเพื่อดูแลรักษาซ่อมบำรุงที่สูง ซึ่งลูกค้าจะสามารถเห็นความคุ้มค่ามากยิ่งขึ้นในการไม่เป็นเจ้าของในสินค้าเหล่านี้ได้โดยง่าย
- กรณีที่สินค้ามีการใช้งานเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ แต่สามารถสร้างคุณค่าได้สูง ทำให้ในมุมของลูกค้าเองนั้นก็เกิดความคุ้มค่าในการเช่าใช้เป็นครั้งๆ ไปมากขึ้น ในขณะที่มุมของผู้ผลิตเองก็สามารถนำสินค้าชิ้นเดิมไปให้บริการลูกค้าได้หลายราย สร้างรายได้ที่สูงขึ้นได้จากสินค้าเพียงชิ้นเดียว
- กรณีที่สินค้ามีการออกรุ่นใหม่ๆ เป็นประจำ ทำให้ลูกค้าสามารถพิจารณาเปลี่ยนไปใช้งานรุ่นใหม่ได้อย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ผู้ผลิตเองก็สามารถนำสินค้าชิ้นเก่ากลับไปซ่อมบำรุงหรือรีไซเคิลเพื่อนำมาให้เช่าหรือให้บริการใหม่ได้อย่างคุ้มค่ากว่าการผลิตใหม่ทั้งหมด
2. Product Life Extension (PLE) ออกแบบผลิตภัณฑ์ให้สามารถดูแลรักษาเพื่อเพิ่มอายุการใช้งานได้ยาวนาน
สำหรับแนวทางนี้ก็คือการออกแบบผลิตภัณฑ์ด้วยแนวคิดใหม่ๆ โดยมุ่งเน้นให้สินค้าชิ้นหนึ่งๆ นั้นมีอายุการใช้งานได้อย่างยาวนานที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ทนทาน, การออกแบบผลิตภัณฑ์ในแบบ Modular เพื่อให้สามารถถอดชิ้นส่วนต่างๆ มาดูแลรักษาเพื่อยืดอายุการใช้งานได้ง่าย, การออกแบบผลิตภัณฑ์ด้วยแนวคิด Upgradable เพื่อให้เปลี่ยนชิ้นส่วนไปเป็นส่วนใหม่ๆ ให้ลูกค้าใช้งานต่อเนื่องได้เมื่อมีความต้องการใหม่ๆ เกิดขึ้น, การเสริมบริการในการดูแลรักษาซ่อมบำรุง, การติดตั้ง Sensor เพื่อให้สามารถซ่อมบำรุงก่อนที่อุปกรณ์จะเกิดการชำรุด หรือแม้แต่การรองรับการอัปเกรด Software ได้อย่างยาวนาน เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีความสามารถใหม่ๆ ได้ตลอดช่วงอายุการใช้งาน
ข้อดีของกลยุทธ์นี้ได้แก่
- ลูกค้าสามารถใช้สินค้าชิ้นหนึ่งๆ ได้อย่างต่อเนื่องยาวนาน โดยไม่ต้องเสียเวลาในการติดตั้ง, เรียนรู้ หรือเปลี่ยนแปลงกระบวนการการทำงานที่เกี่ยวข้องใหม่บ่อยๆ ในการลงทุนใช้งานสินค้าใดๆ
- สินค้าที่ถูกออกแบบมาให้สามารถดูแลรักษาได้ง่ายนั้น ย่อมมีต้นทุนในการดูแลรักษาที่ต่ำลงกว่าทั่วไป และทำให้การใช้งานในระยะยาวนั้น ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาหรืออัปเกรดย่อมคุ้มค่ากว่าการซื้อสินค้าใหม่ทั้งหมด อีกทั้งยังประหยัดกว่าจากการที่ไม่ต้องมีค่าติดตั้งหรือเรียนรู้ใหม่อีกด้วย
- อายุการใช้งานนั้นมักจะเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ธุรกิจต้องพิจารณาในการลงทุนอยู่แล้ว ดังนั้นการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีอายุการใช้งานได้ยาวนานเป็นหลัก ก็จะทำให้สามารถเอาชนะใจของลูกค้าที่ให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ได้ดี
- ผู้ผลิตได้รับโอกาสใหม่ในการคิดค้นพัฒนาสินค้าเสริมเพื่อช่วยยืดอายุการใช้งานของผลิตภัณฑ์ในกลุ่มที่คล้ายคลึงกันได้ ไปจนถึงบริการเสริมที่อาจเปิดตลาดใหม่ให้กับธุรกิจได้
- ผู้ผลิตสามารถนำเสนอบริการเสริมในการซ่อมบำรุงได้ และสามารถบริหารคลังสินค้าได้ดีขึ้นเมื่อสินค้าถูกออกแบบในแบบ Modular ทำให้การผลิตหรือการจัดเก็บชิ้นส่วนต่างๆ สามารถบริหารจัดการให้เหมาะสมและคุ้มค่าได้กว่าการที่ต้องสำรองสินค้าทั้งชิ้น
ธุรกิจที่ต้องการใช้กลยุทธ์นี้ จึงต้องให้ความสำคัญกับทั้งการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ และออกแบบกระบวนการในการซ่อมบำรุงสินค้า พร้อมสร้างทีมสำหรับยืดอายุการใช้งานผลิตภัณฑ์ที่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะต้องมี Know-How ในการดูแลรักษาซ่อมบำรุงสินค้าอย่างเข้มข้น เพื่อให้การยืดอายุการใช้งานของผลิตภัณฑ์เป็นไปได้อย่างยาวนาน และคุ้มค่าต่อทั้งผู้ใช้งานและผู้ผลิตในระยะยาว
ด้วยข้อดีดังกล่าว กลยุทธ์นี้จึงเหมาะสมกับ
- ผลิตภัณฑ์หรือสินค้าที่มีการเคลื่อนย้ายหรือติดตั้งได้ยาก มีค่าใช้จ่ายในการขนส่งหรือติดตั้งที่สูง การมีอายุการใช้งานที่ยาวนานจะทำให้เกิดความคุ้มค่าในการลงทุนได้ง่ายขึ้น
- ผลิตภัณฑ์หรือสินค้าที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำหรือรีไซเคิลได้ยาก การทำให้ผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้สอดคล้องกับความยั่งยืนได้นั้นจึงเป็นการเพิ่มอายุการใช้งานให้ยาวนาน
- ผลิตภัณฑ์หรือสินค้าที่มีการใช้วัตถุดิบหายาก
- ผลิตภัณฑ์หรือสินค้าที่ให้ความสำคัญด้านการใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง เช่น อุปกรณ์ที่มีโอกาสเสียหายได้บ่อยในการใช้งานภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีตลาดชัดเจน
3. Design for Recycling (DFR) ออกแบบผลิตภัณฑ์และกระบวนการให้สามารถนำมารีไซเคิลได้มากที่สุด
สำหรับกลยุทธ์นี้ก็คือการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ธุรกิจสามารถนำบางชิ้นส่วนหรือทั้งหมดของผลิตภัณฑ์กลับมารีไซเคิลเพื่อนำไปใช้สร้างเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่หรือสร้างคุณค่าเพิ่มเติมได้เมื่อลูกค้าเลิกใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแล้ว เพิ่มการหมุนเวียนของทรัพยากรและวัตถุดิบภายในระบบ ไปจนถึงการเพิ่มสัดส่วนของการใช้วัตถุดิบที่ผ่านการรีไซเคิลในการผลิตสินค้าใหม่ ซึ่งอาจจะหมุนเวียนมาจากสินค้าชิ้นเก่าหรือใช้วัตถุดิบจากภายนอก เพื่อให้เกิดการผลิตจากวัตถุดิบใหม่ให้น้อยลง และสร้างคุณค่าให้กับผลิตภัณฑ์เพิ่มเติมในฐานะของผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ข้อดีของกลยุทธ์นี้ได้แก่
- สามารถสร้างคุณค่าในเชิงความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมและอุตสาหกรรมที่ลูกค้าเข้าถึงและเข้าใจได้ง่ายให้กับผลิตภัณฑ์ ต่อยอดไปสู่การสร้างแบรนด์ที่มีความแข็งแกร่งและชัดเจนด้านความยั่งยืน
- ลดความเสี่ยงจากการขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิตในอนาคต ลดการใช้วัตถุดิบใหม่ที่ผลิตจากทรัพยากรธรรมชาติซึ่งอาจหายากและมีราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ ในหลายกรณี
- สร้างโอกาสให้กับธุรกิจในการออกแบบกระบวนการการรับคืนสินค้าเก่าเพื่อนำไปรีไซเคิล ซึ่งอาจประยุกต์ได้ในเชิงการตลาด, การสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า ไปจนถึงการต่อยอดไปเป็นพันธมิตรกับธุรกิจอื่นๆ ได้
- สร้างโอกาสในการสร้างคุณค่าให้แก่ Supply Chain ทางด้านวัตถุดิบรีไซเคิล เช่น การร่วมมือกับธุรกิจอื่นๆ เพื่อสร้างบริการสำหรับการนำสินค้าใช้แล้วไปเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลที่ต้นทุนต่ำกว่าคู่แข่ง หรือการสร้าง Platform สำหรับให้บริการด้าน Supply Chain ของวัตถุดิบที่ผ่านการรีไซเคิลโดยเฉพาะ เป็นต้น
- สร้างโอกาสในการเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบที่ผ่านการรีไซเคิล เพื่อให้ธุรกิจอื่นๆ ทั้งในอุตสาหกรรมเดียวกันและต่างอุตสาหกรรม ทั้งในและนอกประเทศได้เลือกใช้บริการ
การปรับใช้กลยุทธ์นี้ ธุรกิจอาจต้องใช้เวลาในการสร้างฐาน Supply Chain ใหม่ทั้งต้นน้ำในการรับวัตถุดิบที่ผ่านการรีไซเคิลมาเพื่อผลิต ไปจนถึงปลายน้ำในการนำสินค้าเก่าเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล ซึ่งก็อาจทำให้ต้นทุนของธุรกิจสูงขึ้นในช่วงแรกที่อุตสาหกรรมยังไม่มีความพร้อมมากนักและมีต้นทุนที่สูงกว่าการใช้วัตถุดิบที่ผลิตใหม่ ในขณะที่ต้นทุนในการเก็บรวบรวมสินค้าเก่าเพื่อนำไปรีไซเคิลต่อเองนั้นก็ยังอาจสูงอยู่ ดังนั้นการออกแบบกระบวนการ, วิธีการ และการสร้างแรงจูงใจที่ดีเพื่อให้ลูกค้านำสินค้าเก่าส่งกลับมารีไซเคิลได้นั้นถือเป็นหัวใจสำคัญของกลยุทธ์นี้เช่นกัน
ด้วยเหตุนี้ กลยุทธ์การออกแบบผลิตภัณฑ์และกระบวนการให้สามารถนำมารีไซเคิลได้มากที่สุดนี้จึงเหมาะกับ
- ธุรกิจที่สามารถนำผลิตภัณฑ์ของตนเองที่ผ่านการใช้งานแล้วเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลเพื่อนำวัตถุดิบมาใช้ซ้ำ
- ธุรกิจที่สามารถสร้างช่องทางในการรับผลิตภัณฑ์กลับมารีไซเคิลได้ง่ายและได้เปรียบคู่แข่ง
- ธุรกิจที่ต้องการลดความเสี่ยงด้าน Supply Chain ของวัตถุดิบในระยะยาว
- ธุรกิจที่สามารถจับมือเป็นพันธมิตรกับธุรกิจอื่นๆ เพื่อสร้างคุณค่าให้กับการรีไซเคิลได้สูงยิ่งขึ้น
- ธุรกิจที่ต้องการคว้าโอกาสในการเป็นหนึ่งในผู้ผลิตวัตถุดิบที่ผ่านการรีไซเคิลในตลาดระดับประเทศและระดับโลก
ธุรกิจจะเลือกพิจารณาใช้แต่ละกลยุทธ์ให้เหมาะสมได้อย่างไร?
ในการเลือกใช้กลยุทธ์เหล่านี้ แนวทางที่เหมาะสมนั้นไม่ใช่การหยิบเพียงแค่กลยุทธ์ใดกลยุทธ์หนึ่งมาปรับใช้กับผลิตภัณฑ์หรือกระบวนการของธุรกิจให้แตกต่างกันไปเท่านั้น แต่แนวทางที่ดีที่สุดคือการผสมผสานระหว่าง 3 กลยุทธ์นี้ เข้ากับแต่ละผลิตภัณฑ์หรือกระบวนการของธุรกิจตามความเหมาะสม เพื่อให้เกิดคุณค่าสูงสุดในการใช้งาน
สาเหตุที่ควรจะมีการผสมผสานทั้ง 3 กลยุทธ์ในแต่ละผลิตภัณฑ์หรือกระบวนการ ก็เป็นเพราะในทุกๆ กลยุทธ์นั้นสามารถมีจุดร่วมที่ซ้อนทับกันได้ เช่น การสร้างช่องทางที่จะเปิดให้ลูกค้าสามารถนำสินค้าที่ผ่านการใช้งานแล้วมาคืนให้กับภาคธุรกิจได้นั้น ก็สามารถตอบโจทย์ได้ทั้ง RPO และ DFR ไปพร้อมกัน หรือการทำ PLE นั้น ก็อาจมีการออกแบบให้ชิ้นส่วนที่สามารถดูแลรักษาได้นั้นถูกนำกลับมารีไซเคิลได้เมื่อชำรุดเสียหายหรือหมดอายุการใช้งาน เป็นต้น
ดังนั้นปัจจัยที่ธุรกิจควรพิจารณาสำหรับแต่ละผลิตภัณฑ์หรือกระบวนการของตนเอง ก่อนการเลือกประยุกต์ใช้งานกลยุทธ์ที่เหมาะสม จึงมีดังนี้
- ความยากง่ายในการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการใช้งานแล้ว เพื่อให้สามารถประเมินค่าใช้จ่ายหรือกระบวนการที่ต้องกำหนดเพิ่มเติมเพื่อให้สามารถนำผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการใช้งานแล้วกลับมาเข้าสู่กระบวนการสร้างคุณค่าซ้ำได้ เช่น หากเป็นสินค้า FMCG ก็อาจต้องมีจุดรวมบรรจุภัณฑ์ที่ผ่านการใช้งานแล้ว หรือรวบรวมจากช่องทางจำหน่าย ในขณะที่หากเป็นเครื่องจักรหนักที่ติดตั้งหรือเคลื่อนย้ายยาก ก็อาจมีค่าใช้จ่ายที่สูงจนไม่คุ้มค่าต่อการเคลื่อนย้าย เหมาะที่จะส่งทีมงานเข้าไปดูแลรักษาเพื่อเพิ่มอายุขัยการใช้งานมากกว่า เป็นต้น
- ความยากง่ายในการนำผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการใช้งานแล้วมาสร้างคุณค่าซ้ำ เพื่อให้สามารถประเมินได้ว่าค่าใช้จ่ายหรือกระบวนการที่จะเกิดขึ้นเพื่อนำสินค้าที่ผ่านการใช้งานแล้วกลับมาสร้างคุณค่าซ้ำจะสูงเพียงใด หรือต้องอาศัยพันธมิตรผู้เชี่ยวชาญด้านใดเป็นพิเศษ เช่น สินค้ากลุ่มพลาสติกนั้นในประเทศไทยอาจมีความพร้อมในการรีไซเคิลที่สูง ในขณะที่แร่ธาตุหายากในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อาจต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เป็นต้น
- คุณค่าที่ธุรกิจได้รับจากการสร้างคุณค่าซ้ำจากผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการใช้งานแล้ว สุดท้ายก็คือการประเมินว่าเมื่อธุรกิจนำสินค้าที่ใช้แล้วมาเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลหรือยืดอายุขัยแล้ว จะสร้างคุณค่าในเชิงธุรกิจได้มากน้อยเพียงใด เพื่อให้สามารถประเมินความคุ้มค่าจากการลงทุนที่เกิดขึ้นในสองประเด็นก่อนหน้านี้ได้อย่างชัดเจน โดยที่ธุรกิจอาจประเมินเริ่มทำจากส่วนที่ได้กำไรสูงสุดหรือขาดทุนน้อยที่สุด หรือเริ่มทำจากสินค้าที่มีความน่าจะเป็นว่าในอนาคตจะสามารถปรับปรุงกระบวนการในการสร้างคุณค่าซ้ำนี้ให้มีต้นทุนที่ต่ำลง เพื่อกลายเป็นขีดความสามารถในการแข่งขันที่สำคัญได้ในระยะยาว เป็นต้น
แน่นอนว่าในช่วงปี 2023 นี้ก็คงเป็นปีที่ธุรกิจโรงงานและการผลิตหลายแห่งจะได้เริ่มพิจารณาและลองผิดลองถูกเกี่ยวกับกลยุทธ์และแนวทางด้านความยั่งยืน ซึ่งการที่จะประสบความสำเร็จในขั้นตอนเหล่านี้ได้นั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะด้วย Value Chain ใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นกับธุรกิจนี้ ก็ต้องอาศัยทั้งทีมงาน, ประสบการณ์ และเวลาที่ไม่น้อยในการที่ธุรกิจจะได้มีข้อมูลมากเพียงพอในการตัดสินใจและได้ทดลองเปิดตลาดใหม่ แต่ตลาดด้านความยั่งยืนนี้ก็ถือเป็นตลาดที่มีความน่าสนใจไม่น้อย และมีโอกาสในการเติบโตได้ทั้งในระดับประเทศ ไปจนถึงระดับโลกเลยทีเดียว